กระแสปศุสัตว์ (Trends) ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) สัตว์ปีก (Poultry) สุกร (Pig)

เสถียรภาพ “ราคาสินค้าปศุสัตว์” ปัญหาคู่เกษตรกรไทย

ภาคเกษตรกรรมของไทยกับเสถียรภาพราคา ถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน ทุกยุคทุกสมัย ปัญหาที่ถูกหยิบยกเสมอๆ คือ ผลผลิตล้นตลาด ความต้องการลดลง หรือปัญหา Demand/Supply ไม่สมดุล แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือ การปั่นตลาด ทั้งปั่นขึ้นและปั่นลง ประเภททีใครก็ทีมันทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย อยู่ที่ว่าใครจะมีเอกภาพกว่ากัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นความคิดที่ “ไม่ยั่งยืน” ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตลอดห่วงโซ่

ในทางปฏิบัติต่างฝ่ายคือ พันธมิตรทางการค้ากัน ความเป็นมิตรที่ผูกพันกันตลอดไป ความเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงในการประกอบอาชีพกันและกัน เพื่อรักษาประโยชน์ร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากสภาพการค้าที่ต่อเนื่องปลายน้ำที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับต้นน้ำ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาประโยชน์ ตลอดห่วงโซ่ให้ยั่งยืน เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขทางโลกกัน ในขณะเดียวกันปัญหาของต้นน้ำ เช่น ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาโรคระบาด ก็ต้องร่วมตระหนักรู้เพื่อช่วยกันประคับประคองเพื่อนร่วมชาติ

ซึ่งถ้ามองทางสัจธรรม “ชีวิตเป็นของชั่วคราว” ความสุขของปุถุชน ไปผูกโยงกับวัตถุ ผูกโยงกับการได้สนองกิเลส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตลอดชีวิตมีแต่ดึงทุกสิ่งเข้าหาตัวเรา ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เช่นกัน คนปัจจุบันไม่ลึกซึ้งถึงสัจธรรม การใช้ชีวิตจึงแกร่งแย่งกันไม่เลิกราจนกว่าแต่ละชีวิตจะจากโลกนี้ไป

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 บัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหลังจากการดูแลกันเองใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะแก้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติละเลยกับการลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผู้คนจำนวนมากในทุกวงการธุรกิจ จึงวางกรอบการทำงานเพียงแค่ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ถ้าไม่มีภาคบังคับโดยกฎหมายก็จะไม่ปฏิบัติตาม การวางชีวิตในลักษณะประโยชน์ส่วนตนต้องมาก่อนของคนส่วนใหญ่ในสังคม จึงเป็นที่มาของคำว่า “นับวันโลกนี้อยู่ยาก” ที่มีสาเหตุจากสภาพทางจิตวิญญาณ หรือ ขาดความลึกซึ้งกับความหมายและสัจธรรมของชีวิต ผู้คนในสังคมจึงตกเป็นทาสความอยากของตัวเอง ในขณะเดียวกันผู้คนปัจจุบันก็ตกเป็นทรัพยากรของระบบทุนใหญ่แบบไม่รู้ตัว

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542  แยกมาจากพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 โดยส่วนหนึ่งแยกเป็น พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ปัจจุบันออกฉบับใหม่เป็น พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในมาตรา 9 ให้อำนาจคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. มีอำนาจหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะด้านการตั้งราคาซื้อขาย ไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 9 (9) พิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา

มาตรา 9 (10) เชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ยังให้อำนาจคณะกรรมการส่วนจังหวัดไว้ด้วย ในด้านของการกำหนดราคาซื้อขาย ดังนี้

มาตรา 12 ในจังหวัดหนึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรียกโดยย่อว่า “กจร.” ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามเป็นกรรมการ และพาณิชย์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ กจร. มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดนั้น

กจร. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ตามมาตรา 13 ที่มี 4 อนุมาตรา (วงเล็บ) เช่น

(1) ปฏิบัติการตามมาตรา 25 มาตรา 27 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 29 วรรคสอง และมาตรา 33

(2) พิจารณาเรื่องที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคา

(3) เชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือ ความเห็น

(4) ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของ กกร. และปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ กกร. มอบหมาย

กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในหมวด 5 บทกำหนดโทษ โดยกรณีฝ่าฝืนเรื่องการกำหนดราคา มาตรา 41 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 31 ต้องระวางโทษ โดยเฉพาะ มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด โดยบัญญัติบทลงโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งในยามปกติ และยามวิกฤตที่มีการกำหนดราคาแบบผิดธรรมชาติ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ใช้งานได้เสมอ อยู่ที่ว่าเกษตรกรจะใช้ในการร้องเรียนเป็นไหม? ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่เกษตรกรจะลึกซึ้งในการแก้ปัญหาลักษณะนี้ ในขณะที่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ ทั้ง กกร. และ กจร. นอกจากเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะต้องใช้อำนาจอย่างจริงจัง ประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ปัญหานี้จะบรรเทาลงแน่นอน

Cr. ผู้น้อยบนโลกใบใหญ่

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com