ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) สุกร (Pig)

กรมปศุสัตว์-นักวิชาการ ยันโรค PRRS เกิดในหมูไม่แพร่สู่คน

จากกรณีที่พบหมูในฟาร์มเกษตรกรล้มตายหลายสิบตัว ในอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ปศุสัตว์อำเภอระบุว่าเกิดจากโรค PRRS ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส ที่ติดต่อกันเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่มีการแพร่เชื้อไปยังคนหรือสัตว์ชนิดอื่นได้ แต่ไม่แนะนำให้นำหมูที่ติดเชื้อไปชำแหละกินหรือขาย เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ในเลือด และต่อมต่างๆ ของหมู เมื่อมีการชำแหละการล้างน้ำ ก็จะทำให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำและตามพื้นดิน ซึ่งไวรัสตัวนี้จะอยู่ได้ถึง 6 เดือน วิธีการสังเกตอาการคือ หลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว หมูจะไม่กินอาหาร มีตุ่มขึ้นตามลำตัว และจะตายภายใน 3 – 4 วัน

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่าโรค PRRS ไม่สามารถแพร่สู่คนได้และกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ที่ตรวจพบ ที่สำคัญผู้บริโภคสามารถรับประทานเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย เน้นการเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน สังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา ตั้งแต่ต้นทางที่ฟาร์มเลี้ยงจนถึงมือผู้บริโภค สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรุงสุกทุกครั้ง ไม่ทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดี ลดความเสี่ยงทั้งเรื่องอาหารเป็นพิษ

อย่างไรก็ดีการรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรค PRRS จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง โดย อ.น.สพ.ดร.นิติพงศ์ หอมวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า โรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) หรือเพิร์ส เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อและแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มสุกร จะเกิดขึ้นผ่านการหายใจ สารคัดหลั่งและการสัมผัสสุกรป่วยโดยตรง ผ่านทางอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในฟาร์ม รวมถึงผ่านทางการผสมพันธุ์ในฝูงพ่อแม่พันธุ์ และปนเปื้อนไปกับยานพาหนะในขั้นตอนการขนส่งสุกรหรือซากสุกร โดยแม่สุกรจะแสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์ อาทิ อัตราการผสมติดต่ำ แท้งลูกในช่วงท้ายของการอุ้มท้อง ลูกสุกรตายแรกคลอดมากผิดปกติ ส่วนลูกสุกรหย่านมจะแสดงอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ สุกรป่วยมีไข้ นอนสุมกัน ตัวแดง ไม่กินอาหาร อ่อนแอ ท้องเสีย เลี้ยงไม่โต แคระแกร็น และอัตราเสียหายระหว่างการเลี้ยงสูงมาก

สำหรับการป้องกันโรคนี้ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดี เน้นความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และดูแลฝูงสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเฉพาะการดูแลด้านการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี เน้นการล้างทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมคอกเลี้ยง สำหรับการเข้าเลี้ยงฝูงสุกรใหม่ทุกชุด เลือกซื้อสุกรที่จะนำเข้าเลี้ยงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และควรกักสุกรอย่างน้อย 30 วัน ก่อนนำเข้ารวมฝูง คนงานในฟาร์มต้องไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก เตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อหน้าโรงโรงเรือนพร้อมรองเท้าเปลี่ยนใช้สำหรับภายในโรงเลี้ยงเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ได้เนื้อหมูที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อน นอกจากนี้ต้องล้างมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะอาด พร้อมปรุงอาหารด้วยอุณหภูมิร้อนจัด เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพื่อความมั่นใจว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย หมดกังวลเรื่องโรคอันตรายจากสุกร

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com