กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ กลับมาคึกคักกันอีกครั้งสำหรับรอบใหม่การจับและอายัติ “หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 กรมปศุสัตว์ ตรวจพบหมูเถื่อน หรือ หมูกล่อง จากห้องเย็นแห่งหนึ่งทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5,375 กิโลกรัม ถัดมาอีกวันเดียว ศุลกากรภาคที่ 2 สกัดยึดเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า ระหว่างทางขนส่งปลายทางที่ จังหวัดมหาสารคาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท จากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่น้อยหน้ากันทั้งคนตรวจจับและพื้นที่ที่จับกุมได้ จับให้เห็นกันชัดๆ แต่ที่ไม่ชัดคือ จับได้ครั้งใดไม่มีชื่อผู้กระทำผิดปรากฎ
มาตรการจับ ปราบ ยึดของกลางซาๆ ไปหลังเดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา มีบ้างประปรายไม่เดินสายจับถี่ๆ เหมือนช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ที่จับได้รวมกันเป็นหลักล้านกิโลกรัมทีเดียว ก็ไม่รู้ว่าหยุดพักเอาแรงหรืออย่างไร มาเริ่มออกแรงกันมากๆ อีกครั้ง เห็นจะเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา หลังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกระทุ้งรัฐบาลให้ช่วยปราบปราม “หมูเถื่อน” ด้วยเถอะ เพราะมันมีอยู่จริงและเยอะกว่าที่คิด หากปล่อยทิ้งไว้ “หายนะ” จะบังเกิดกับคนไทยเสี่ยงได้รับสารเร่งเนื้อแดงสะสม ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูเตรียมฝังกลบอาชีพตัวเองแทนการฝังกลบทำลายหมูลักลอบนำเข้า (ตามมาตรการป้องกันโรคระบาด)
หลังผู้เลี้ยงหมูผนึกกำลังกันแถลงข่าวคึกโครมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 แจงชัดว่าหมูเถื่อนยังมีการลักลอบกันต่อเนื่องหนักขึ้นโดยนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรี แล้วนำมาฝากแช่เย็นในห้องเย็นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลบ้าง อาหารสัตว์บ้าง หรือเป็นสินค้าอาหารอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจโรคและการขออนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ตามระเบียบ ของร้อนผิดกฎหมายต้องปล่อยเร็วเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเสนอราคาแสนถูกล่อใจผู้บริโภคและร้านอาหารที่ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาดังกล่าวมาพร้อมของแถมที่มองไม่เห็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงกาล คือ สารเร่งเนื้อแดงและสารปนเปื้อน ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอยู่ในภาวะกดดัน ไม่กล้านำหมูรอบใหม่เข้าเลี้ยง เพราะเสี่ยงขาดทุนจากราคาหมูเถื่อนที่ต้นทุนต่ำกว่าหมูไทย
หมูเถื่อนที่สันนิษฐานว่าใส่คอนเทนเนอร์แบบตู้เย็นแล้วส่งมาทางเรือ จากหลายประเทศ เช่น เยอรมัน สเปน เนเธอร์แลนด์ อาร์เจนตินา มีทั้งเนื้อหมูแช่แข็งซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า รวมถึงเครื่องในหมูและชิ้นส่วนอื่นๆ ขณะที่กรมศุลกากร แบ่งรับแบ่งสู้ว่าปะปนมากับสินค้าแช่แช็งอื่นในตู้เดียวกัน ไม่มีทางที่จะเอาเข้ามาลอยๆ ตู้เดียวโดดๆ ดังนั้นการตรวจสอบทำได้ลำบาก ต่อให้ยากแค่ไหน ของผิดกฎหมายจำเป็นต้องตรวจค้นให้เจอและดำเนินคดี นอกจากนี้ กรมฯ ยังให้ข้อมูลว่าการลักลอบนำเข้าสามารถผ่านมาทางอากาศก็ได้ ซึ่งประโยคนี้ไม่ควรมาจากปากของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมฯ เพราะพิจารณากันแล้ว ทางอากาศมาได้จำกัดกว่าทางเรือ ด้วยน้ำหนักขนส่ง และค่าระวางทางอากาศสูงกว่าทางเรือมาก หากมาทางอากาศเจ้าของสินค้าจะสามารถนำเสนอราคาถูกๆไม่ได้
ไม่ว่าจะให้เหตุผลใดๆ ก็ตาม หน้าที่และความรับผิดชอบในการปราบปรามหมูลักลอบนำเข้าย่อมอยู่บนบ่าของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ต้องผนึกกำลังเข้าตรวจสอบห้องเย็นทุกวันและทุกพื้นที่เสี่ยง เพื่อกำจัดผู้กระทำผิดกฎหมายแบบ “จับให้มั่น คั้นให้ตาย” กันไปเลย ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก คนที่คิดจะลักลอบต่อไปจะได้เกรงกลัวกฎหมาย ที่คิดจะขยายผลหรือปริมาณนำเข้า หรือหน้าใหม่ที่คิดจะทดลองทำผิดดูบ้าง จะขยาดในการลงมือทำผิดกฎหมายเพราะเสี่ยงต่อความเสียหายหากถูกจับได้ ขณะเดียวกัน ควรมีการสืบสวนจากการเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อโซเชียล น่าจะเป็นเบาะแสอย่างดีในการนำไปสู่ต้นตอ ซึ่งอาจจะเจอตอ งานนี้คงโอล่ะพ่อ
ปริมาณหมูเถื่อน ยิ่งมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำลายเป้าหมายของรัฐบาลในการฟื้นฟูผลผลิตสุกรของไทยให้กลับสู่ภาวะปกติภายในสิ้นปี 2565 คงไม่มีแสงที่ปลายอุโมงค์ ในทางกลับกันเมื่อผู้เลี้ยงไม่มั่นใจเพราะเห็นราคาที่จะต้องแข่งขันกับสินค้าผิดกฎหมายแล้ว คงถอดใจชะลอการนำหมูเข้าเลี้ยงล็อตใหม่ หรือมองหาอาชีพอื่นที่ทำแล้วได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน ดีกว่าทู่ซี้เลี้ยงไปทั้งๆ ที่รู้ว่าขาดทุนแน่นอน
เหนืออื่นใด หมูเถื่อน ไม่ผ่านการตรวจโรคระบาด ทั้ง ASF และโรคอื่นๆ จะกลายเป็นพาหะนำโรคเข้ามาแพร่ระบาดในไทยได้ ซึ่งไทยพยายามอย่างยิ่งยวดในการป้องกันโรค ASF โดยไม่ตรวจพบโรคนี้มากกว่า 50 วันแล้ว นับเป็นข่าวดีของไทย ขณะที่เกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก นำหมูเข้าเลี้ยงแล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งผลผลิตจะออกมาช่วงไดรมาส 4 ของปีนี้ จึงควรมีตลาดรองรับในราคาสมเหตุผลตามกลไกตลาด เนื่องจากเกษตรกรยังต้องแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังทรงตัวยืนสูงในขณะนี้
ในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ เกษตรกรต่างลดความเสี่ยงจาก “โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร” (African Swine Fever) หรือ ASF ที่ระบาดในหลายประเทศรอบไทย ด้วยการชะลอการเข้าเลี้ยงหมู กระทั่งโรคนี้เข้ามาระบาดในประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งห่วงโซ่ มีผลทำให้ “แม่พันธุ์หมู” จากทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว (ผลิตลูกหมูหรือ “หมูขุน” ได้ 21-22 ล้านตัว/ปี) เสียหายไปกว่า 50% ทำให้เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และผลิตเป็นหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี หรือเท่ากับ “ซัพพลาย” หมูหายไปจากระบบกว่า 10 ล้านตัว จนทำให้ช่วงต้นปี 2565 ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งสูงขึ้นเกือบ 300 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นแรงจูงใจหลักให้เหล่ามิจฉาชีพดำเนินการลักลอบนำเข้า เพื่อหวังทำกำไรจากส่วนต่างโดยไม่สนใจว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นการยื่นความตายให้คนไทย และเป็นการบีบคอผู้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กให้หายไปจากวงจรการเลี้ยง หากกระบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ถูกกำจัด ความมั่นคงทางอาหารและระบบเศรษฐกิจของไทยคงเติบโตต่อไปไม่ได้หากต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจตลอดไป./
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน