เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มคิวอาหารสัตว์ ร่วมมือกับ VCF Group , VC Meat Buriram , บริษัท คล้ายแจ้งนำโชค จำกัด และมนปรียาเขียงหมู จัดสัมมนาประจำปีขึ้น ณ โรงแรม ศิตา ปริ๊นเซส บุรีรัมย์ เพื่อยกระดับคุณภาพระบบงาน ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าและการบริการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ค้าอาหารสัตว์ (อาหารสุกรเจ็ท) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะกลุ่มเอเย่นต์หรือเครือข่ายผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจสุกรให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผนึกกำลังให้สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ผันผวนตลอดเวลา สามารถแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงได้ โดยการร่วมกันแสดงความคิดเห็น และแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอด ขยาย ปรับปรุง พัฒนาธุรกิจสุกรของกลุ่มอย่างยั่งยืน
คุณคมกริช คล้ายแจ้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท คล้ายแจ้งนำโชค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปสุกรมาตรฐานขนาดกำลังการผลิต 200 ตัว/วันในจังหวัดศรีษะเกษ เปิดเผยว่าถือเป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มคิวอาหารสัตว์ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) อาทิเช่น จังหวัดขอนแก่น ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร และมหาสารคาม กับ VCF Group ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน เช่น ภาวะราคาสุกรในพื้นที่ตกต่ำทำให้เกษตรกรบางรายเลิกเลี้ยง , ยอดจำหน่ายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย , การส่งเสริมการตลาดเพิ่มเติม , ปัญหาการชำระเงิน และปัญหาจากปัจจัยอื่นๆ รวมถึงการระบายสุกรของเกษตรกรในเครือข่ายด้วย (การจับหมู) เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการปรึกษาหารือกันไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น
ส่วนแนวทางในการรับซื้อและจับสุกรของเกษตรกรในเครือข่าย คุณคมกริชกล่าวว่าที่ผ่านมายอมรับว่าการรับซื้อสุกรยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร อีกทั้งคุณภาพซากของสุกรที่เกษตรกรเลี้ยงยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ฉะนั้นทางบริษัท คล้ายแจ้งนำโชค จำกัด ได้ตั้งข้อกำหนดในการรับซื้อสุกรเข้าโรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่า ทางบริษัทได้ดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (มกษ.9004-2547) การรับสัตว์เข้าคอกพัก และระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าปศุสัตว์ พ.ศ. 2546 ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้
1. เพื่อให้มั่นใจว่าสุกรก่อนเข้าโรงงานปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง (Beta-agonist) โดยจะต้องมีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองเท่านั้น
2. ต้องมีชื่อฟาร์ม เลขทะเบียนฟาร์ม และใบบันทึกประวัติสัตว์ (ใช้ในการยื่นขอใบขนย้ายสัตว์)
3. ราคาในการรับซื้อจะอิงราคาประกาศโดยใช้ราคารับซื้อในพื้นที่เป็นเกณฑ์
4. ต้องมีการงดอาหารแต่ไม่งดน้ำ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
5. สุกรที่น้ำหนักไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด (น้ำหนักต่ำกว่า 85 กิโลกรัมหรือมากกว่า 120 กิโลกรัม) บริษัทมีสิทธิ์รับซื้อในราคาที่บริษัทกำหนด
6. ในการชั่งซื้อขายสุกรให้ชั่งที่หน้าฟาร์ม เพื่อหาน้ำหนักชั่งออก โดยเมื่อมาถึงบริษัทให้ทำการชั่งทวนซ้ำ โดยน้ำหนักรับเข้าและชั่งออกต้องสูญเสียไม่เกิน 1%
7. กรณีที่น้ำหนักหายเกิน 1% ให้ถือว่าการอดอาหารไม่เป็นไปตามข้อกำหนด บริษัทมีสิทธิ์ในการตัดราคาสุกรตามที่สูญเสียจริง
8. ในกรณีรับซื้อจากเกษตรกรหรือผู้ร่วมโครงการต้องผ่านการตรวจโรคจากพนักงานตรวจโรคประจำโรงฆ่าสัตว์ โดยสุกรต้องอยู่ในสภาพปกติ หากสุกรไม่เป็นไปตามข้อกำหนด บริษัทมีสิทธิ์ปฏิเสธการรับซื้อหรือตัดราคา ทั้งนี้อ้างอิงจากพนักงานตรวจโรค (ตัวอย่างเช่น หมูเป็นไส้เลื่อน หมูแคระเลี้ยงไม่โต และหมูไม่ตอน เป็นต้น)
9. กรณีจับหมูแล้วนำมาส่งมีการตายเกิดขึ้นระหว่างการรับซื้อหรือขนส่ง ทางบริษัทไม่ร่วมรับผิดชอบ หากหมูขาหักบริษัทมีสิทธิ์ตัดราคาที่ขาหัก จุดละ 500 บาท
ทั้งนี้เอเย่นต์ (ตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์) จะเป็นผู้บริหารการจับสุกร และตรวจสอบการอดอาหาร หรือน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ตลอดจนการรวบรวมจำนวนสุกร ส่วนบริษัทจะมีรถขนส่งพร้อมคนขับไว้ให้บริการหรือเอเย่นต์สามารถจับสุกรส่งเข้าโรงงานโดยตรง สามารถทำได้ทั้ง 2 กรณี แล้วแต่สะดวก
ภายในปีนี้นอกจากจะวางแผนงานให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งโรงเชือดที่รองรับผลผลิตของเกษตรกรในเครือข่ายแล้ว การปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงาน วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย รวมถึงการจัดกิจกรรม สัมมนา หรือศึกษาดูงานก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเครือข่าย เกิดเป็นความต่อเนื่องทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และที่สำคัญทำให้ทราบแหล่งที่มาชัดเจน
ด้านคุณนลพรรณ คล้ายแจ้ง (พี่สาว) เจ้าของ VC Meat สาขาบุรีรัมย์ เผยว่าในการทำธุรกิจจะต้องทำแบบครบวงจร โดยการทำธุรกิจอื่นควบคู่ไปด้วย หรือต่อยอดจากร้านค้าอาหารสัตว์ เช่น การเปิดร้าน/เขียง จำหน่ายเนื้อหมูสดในเขตพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการระบายสุกรของเกษตรกรที่ใช้อาหารสัตว์ของทางร้าน ที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้อีกทางที่ดี หรือจะเปิด VC Meat ก็สามารถทำได้ ส่วนคุณคมกริชย้ำว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการระบายสุกรของเกษตรกร เนื่องจากทางบริษัทได้เปิดช็อปภายใต้แบรนด์ “มนปรียาหมูสด” ไว้เพื่อรองรับสินค้าจากการแปรรูปสุกรของเกษตรกรในเครือข่าย ครอบคลุมหลายจังหวัดในเขตอีสานใต้
“มนปรียาเขียงหมู จำหน่ายเนื้อหมูสด สะอาดและปลอดภัย มีการแพ็คชิ้นส่วนขนาดต่างๆ และรักษาอุณหภูมิอย่างดี จำหน่ายทั้งราคาขายปลีกและส่ง ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีจำหน่าย เช่น หัวหมู ขา เครื่องใน เนื้อสันนอก สันใน เนื้อสะโพก เนื้อแดง และหมูสามชั้น เป็นต้น มีพนักงานบริการหั่น สไลด์หรือบดให้ฟรี โดยขณะนี้เปิดให้บริการ 2 สาขาแล้ว ใน อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และอนาคตจะทำการขยายสาขาให้ครอบคลุมต่อไป”
อย่างไรก็ตามธุรกิจสุกรที่มีตลาดเป็นตัวชี้วัด ราคาสามารถปรับขึ้นและลงไปตามดีมานด์และซัพพลาย ฉะนั้นการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อสุกร การบริการ การส่งเสริมความรู้และการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการสร้างมาตรฐานให้ถูกสุขอนามัย เพื่อยกระดับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุคที่มีการแข่งขันสูง ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายและรักษาเสถียรภาพให้เข้มแข็ง
ขอขอบคุณ : คุณคมกริช คล้ายแจ้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท คล้ายแจ้งนำโชค จำกัด และ คิว อาหารสัตว์ โทร. 080-658-4884
คุณธวัชชัย บัวจันทร์ (คุณนก) โทร. 081-880-8629 เจ้าของ VC Meat สาขาบุรีรัมย์
บรรยากาศในงาน / รูปภาพ