จากการรายงานการปิดโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และโรงเชือดในหลายประเทศ เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ของพนักงาน เป็นเหตุให้ไลน์ผลิตของโรงงานต้องยุติลง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของโรคดังกล่าว ส่งผลกระทบหลายอย่างในห่วงโซ่อุปทาน การผลิตสุกร เกษตรกรผู้เลี้ยง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค “การส่งออก” ก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบไม่แพ้ “โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF)” เช่นกัน
ด้านองค์กรต่างชาติ (Global COVID-19) จัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ใน 184 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศออสเตรเลีย และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ขณะเดียวกันประเทศเยอรมันได้ถอนรายชื่อของไทยออกจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้ว ในขณะที่ประเทศจีนพบการระบาดของโรคดังกล่าวระลอก 2 ในกรุงปักกิ่ง ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเนื้อหอมด้านการผลิตและความปลอดภัยทางอาหารที่หลายประเทศจับจ้องในขณะนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของภาคปศุสัตว์ไทย
ในฐานะที่ประเทศไทยยังคงสถานะประเทศที่ปลอดจากโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ทำให้สุกรของไทยกลายเป็นที่ต้องการของหลายๆ ประเทศ ล่าสุดเวียดนามอนุญาตให้นำเข้าสุกรพ่อ-แม่พันธุ์แล้ว ซึ่งครั้งแรกนี้มาจากไทย เพื่อแก้ปัญหาภาวะราคาสุกรที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายปี จากการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) จนทำให้จำนวนสุกรทั้งประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันราคาหมูในจีนสูงถึง 141 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 109 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 97 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมา 81 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในไทยราคาอยู่ที่ 70-78 บาทต่อกิโลกรัม
แม้ว่าในไทยยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) แต่เกษตรกรไทยอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด (วางใจไม่ได้) การตั้งการ์ดเฝ้าระวังโรคดังกล่าว ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ระบบ Biosecurity (ไบโอซีเคียวริตี้) ในฟาร์ม ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมายังมีการรายงานการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) อย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศจีน ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน แต่อาจเป็นเพราะกระแสข่าวโควิด-19 ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้กระแสข่าวโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) เงียบไปบ้าง ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฟาร์มทุกฟาร์มควรปฏิบัติจนเป็นเรื่องปกติแบบวิถีใหม่ “New Normal” เพราะโรคนี้สร้างความสูญเสียให้กับฟาร์ม 100% (จากทำลายหมูและการตาย) กว่าจะกลับมาเลี้ยงได้อีกครั้ง อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน บางพื้นที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปี
แน่นอนว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้ ทั้งรายใหญ่ รายย่อย และพ่อค้า ขอเพียง “การ์ดอย่าตก” ทั้ง COVID-19 และ ASF ท่องไว้ “อย่าประมาท ถ้าไม่อยากตกม้าตาย”
หากมีข้อสงสัยก็สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ สายด่วน Call Center 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.