เกษตรฯ เปิดหลักเกณฑ์เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งด้านพืช ด้านประมง สัตว์น้ำ และ ปศุสัตว์ ครอบคลุมเกษตรกรที่ไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกรด้วย
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่ารัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์การเยียวยาเกษตรกรให้ใกล้เคียงกับต้นทุนที่แท้จริง และขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังเกษตรกรที่ไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเกษตรกรโดยยึดตาม “หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564” ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะดำเนินการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแจ้งให้เกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน ตามกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อสิทธิประโยชน์เกษตรกร และยืนยันสถานภาพในการรับการช่วยเหลือเยียวยารวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขการช่วยเหลือ ประกอบด้วย
ด้านพืช ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
- ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
- พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท
ด้านประมง (สัตว์น้ำ)
- ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
- กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
- กระชัง/บ่อซีเมนต์ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.
ด้านปศุสัตว์
- โค ตัวละ 13,000 – 35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว)
- กระบือ ตัวละ 15,000 – 39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว)
- สุกร ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
- แพะ/แกะ ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
- ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง ตัวละ 30 – 80 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)
- ไก่ไข่/เป็ดไข่ ตัวละ 30 – 100 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว)
- ไก่เนื้อ ตัวละ 20 – 50 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
- เป็ดเนื้อ/เป็นเทศ ตัวละ 30 – 80 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
- นกกระทา ตัวละ 10 – 30 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
- นกกระจอกเทศ ตัวละ 2,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
- ห่าน ตัวละ 100 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)
ทั้งนี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายทุกหน่วยงานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ และหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จะได้มีการลงพื้นที่สำรวจต่อเนื่อง ให้คำแนะนำเกษตรกร ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ สนับสนุนพันธุ์ไม้ผล ไม้ยืนต้น เมล็ดพันธุ์ผัก สารชีวภัณฑ์ เป็นต้น
ดาวน์โหลด : หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564