เมื่อสิ้นเสียง GPS ที่ปักหมุดไว้ ณ ฟาร์มไก่ตะเภาทองสุพรรณบุรี เลขที่ 328 หมู่ 2 บ้านหนองแหน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่บอกเราว่าถึงที่หมายแล้ว ซึ่งระหว่างทางเข้านั้นได้พบกับเล้าไก่ขนาดแตกต่างกันจำนวน 3 หลัง ล้อมด้วยตาข่ายสูงกว่า 2 เมตร ภายในเล้าเลี้ยงไก่ที่มีลักษณะขนเป็นสีทองหรือที่เรารู้จักกันคือ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” และที่สะดุดตาอย่างมากคือ ไก่ที่มีขนเป็นสีขาวล้วน รูปทรงสง่างาม หงอนสีแดงสดดุจทับทิมสยามกว่า 1,000 ตัว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าไก่ที่เห็นนั้นคือไก่พันธุ์อะไร
ก้าวแรกที่เปิดประตูรถออกมา จะได้ยินเสียงไก่ขันประหนึ่งว่ากล่าวต้อนรับทักทายแขกผู้มาเยือน แต่ทันใดนั้นก็ได้ยินน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของคนสุพรรณดังมาแต่ไกลว่า “สวัสดีครับพี่” เจ้าของเสียงนั้นก็คือ คุณชัยทร ผิวเกลี้ยง หรือคุณโต้ง เจ้าของฟาร์มที่เรานัดกันไว้นั่นเอง
ทั้งนี้หลายท่านอาจจะรู้จักคุณโต้งมาบ้างแล้ว จากสื่อโทรทัศน์และทางโซเชียลมีเดียทั้งหลายที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ไก่ที่มีเนื้อเหนียวนุ่ม กระดูกร่อน หนังกรอบ และไขมันน้อย แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ ไก่ที่มีขนสีขาว ลำตัวใหญ่ อกกว้างดุจพญาไก่ แข้งสีเหลืองเสมือนลำเทียน ดั่งที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าไก่พันธุ์อะไร
คุณโต้งบอกกับเราว่าไก่ที่เห็นนั้นคือ “ไก่ขาวพันธุม” ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ โดยเมื่อก่อนคิดว่าเหมือนไก่ทั่วไป ไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะยังไม่นิ่ง เนื่องจากยังมีแข้งสีน้ำตาลและขนสีทองแซม ซึ่งยังคงลักษณะเด่นของไก่ตะเภาทองอยู่บ้าง แต่เมื่อมาลองจับตัวเลขดูผลปรากฏว่าไก่สายพันธุ์นี้ โตเร็ว เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทั่วไปได้ดี จึงสนใจปรับปรุงพันธุ์ให้สมบูรณ์ 100 %
“ไก่ตะเภาทอง อายุ 8-10 สัปดาห์ น้ำหนักจะอยู่ที่ 1.4 กก. แต่ถ้าเป็นไก่ขาวพันธุมน้ำหนักจะอยู่ที่ 1.5-1.6 กก. ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่พอมาดูอัตราการเจริญเติบโตปรากฏว่าตัวเลขค่อนข้างดี โดยที่ยังคงความเป็นไก่ตะเภาทองอยู่ก็คือให้ไข่ดก เฉลี่ย 160-200 ฟอง/ปี เนื้อเหนียวนุ่ม กระดูกร่อน และไขมันต่ำ”
ด้วยความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ขนสีขาว เลยนำตัวผู้ที่มีอยู่ในฟาร์มเริ่มผสมพันธุ์กัน ในช่วงแรกยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากมีขนสีทองปะปนอยู่บ้าง จึงผสมไขว้กันหลายรุ่นในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันได้ไก่ขาวพันธุมที่มีขนสีขาว 100% และแข้งสีเหลือง ตรงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่มีลักษณะหงอนไก่ที่ปนกันอยู่ 2 แบบ คือ “หงอนจักร” (หงอนใหญ่) กับ “หงอนหิน” (หงอนเล็ก) ขั้นตอนต่อไปก็คือเลือกหงอนไก่ให้ตรงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น (หงอนเล็ก เป็นคำตอบสุดท้าย คริคริ)
“ขาวพันธุม” สมบัติของแผ่นดินสุพรรณ
ไก่ขาวพันธุมมีลักษณะโครงสร้างใหญ่ อกกว้าง โครงสร้างเนื้อจะคล้ายกันกับไก่ตะเภาทอง มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆ และแบนเรียบ ทำให้เนื้อไก่ไม่เหนียวเวลาเคี้ยวมีความนุ่มละมุนลิ้น กระดูกเล็ก ขนสีขาว แต่ถ้าเป็นไก่ที่โตเต็มที่ขนจะออกเหลืองๆ สีทองเล็กน้อยที่ปลายขน (อั๊ยย๊ะขนแตกปลาย) หนังออกสีเหลือง น้ำหนักสูงสุดตัวผู้อยู่ที่ 3.0-3.4 กก. ส่วนตัวเมียประมาณ 2.4 กก. โตเต็มที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน
ข้อดีไก่ขาวพันธุมคือ โตเร็วกว่าไก่ตะเภาทอง เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่ายไม่ยุ่งยาก วิธีการเลี้ยงจะเหมือนกับไก่ตะเภาทองคือให้กินอาหารไก่พื้นเมือง 60% โดยอาหารจะต้องปลอดฮอร์โมนเร่งและยาปฏิชีวนะ อีก 40% จะเสริมด้วยพืชผักสมุนไพร เช่น ใบเตย ใบตำลึง กล้วย หญ้าขน และข้าวเปลือกงอก เป็นต้น
“เพราะมองว่าไก่ขาวพันธุมมีเอกลักษณ์เฉพาะคือเรื่องของสีผิว การเจริญเติบโต ที่เร็ว คุณภาพเนื้อ และรูปแบบการเลี้ยง ที่มีความชัดเจนตั้งแต่ไก่ตะเภาทองแล้ว เป็นรูปแบบที่ทุกคนสามารถเลี้ยงได้เช่นกันและเลี้ยงง่ายด้วย ที่สำคัญสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรท่านอื่นได้ด้วย”
แต่เอ๊ะ!!! เชื่อว่าหลายคนยังไม่เก็จกับที่มาของชื่อ “ไก่ขาวพันธุม” คุณโต้งเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะมีชื่อเรียกอย่างทุกวันนี้ถูกเรียกเปรียบเทียบกับไก่ตะเภาทองว่า “ไก่ตะเภาแก้ว” แต่หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับผอ.ประสทธิ์ ต้อยติ่ง ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สนง.ปศุสัตว์เขต 7 ที่เข้ามาช่วยดูแลและแนะนำแนวทางการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนร่วมกันตั้งชื่อ “ไก่ขาวพันธุม” เนื่องจากในอดีตเมืองสุพรรณบุรีมีหลายชื่อที่ถูกเรียกกัน ทั้งเมืองอู่ทอง เมืองสุพรรณภูมิ และมีอีกชื่อที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นกันมากนักคือ “พันธุมบุรี” เหตุผลนี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว
เมื่อทราบแหล่งที่มาค่อนข้างเคลียร์แล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ตะเภาทองของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้โดยตรง ทั้งในด้านองค์ความรู้ การดูแลและการจัดการ ตลอดจนเทคนิคการเลี้ยงต่างๆ ได้ ซึ่งในส่วนนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอสองพี่น้อง คอยให้คำปรึกษาแนะนำ
ตลาดพรีเมียม คือ เป้าหมาย
เมื่อความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเนื้อไก่ขาวพันธุมที่มีรสชาติแตกต่างจากไก่เนื้อทั่วไป ตรงที่เนื้อเหนียวนุ่ม หนังกรอบ และมีไขมันต่ำ ทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาติ ต่างกล่าวขานกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงผู้เขียนด้วย แต่ทั้งนี้คุณโต้งก็ยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ สินค้าที่ผลิตจากฟาร์มและกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายจะต้องขายได้ในตลาดโมเดิร์นเทรด กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ โดยเน้นเป็นสินค้าที่มีสตอรี่ มีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดการบอกต่อไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังได้คุณพิพัฒน์ เพชรรัตน์ ปศุสัตว์อำเภอฯ ร่วมกันผลักดันให้ไก่ขาวพันธุมเป็นของดีเมืองสุพรรณบุรี ยิ่งจะทำให้ตลาดมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
พอจะเห็นภาพกันบ้างแล้ว ระหว่างที่นั่งพูดคุยกันก็ได้ลิ้มลองเนื้อไก่ขาวพันธุม ซึ่งรสชาติก็เป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น หากใครมีโอกาสอยากให้ได้ลองชิมกัน (หามาชิมกันนะ รับรองจะติดใจ) สำหรับเกษตรกรท่านใดอยากจะเลี้ยงไก่ขาวพันธุมและไก่ตะเภาทอง สามารถปรึกษาได้ ที่สำคัญคุณโต้งยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยสำเนียงคนสุพรรณว่า “จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและพึงพอใจในสินค้าด้วยการรักษาคุณภาพให้ได้”
ขอขอบคุณ : คุณชัยทร ผิวเกลี้ยง โทร. 095-936-4789
Facebook : ฟาร์มไก่ตะเภาทองสุพรรณบุรี-หมอโต้ง