ท่ามกลางความอึมครึมของกระแสข่าวในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ จนทำให้เกิดความ “สงสัย” ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ว่า โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) กับ โรคเพิร์ส (PRRS) แตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากอาการของโรคทั้งสองนี้คล้ายๆ กัน คือ มีอาการไข้ เบื่ออาหาร และมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ แต่อัตราการตายต่างกัน ซึ่งทั้งสองโรคนี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู ไม่เป็นโรคติดต่อสู่คน
ทำความรู้จักโรคระบาดหมู
ASF มีชื่อเต็มว่า African Swine Fever (แอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์) เป็นโรคติดต่อรุนแรงเฉพาะหมูเลี้ยง และหมูป่า เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Asfivirus เป็น DNA virus ที่มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน และอยู่ในเนื้อหมูแช่แข็งได้หลายปี พบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2464 ที่ประเทศเคนย่า ทวีปแอฟริกา
ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน หมูที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง มีจุดเลือดออก โดยเฉพาะใบหู ท้อง และขาหลัง โดยหมูจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-4 วัน หากเกิดโรคนี้กับฟาร์มใดจะทำให้หมูตายฉับพลันทันที (อัตราการตายสูง 80-100%)
ส่วนโรค PRRS (โรคพีอาร์อาร์เอส หรือเพิร์ส) เป็นโรคติดต่อที่เกิดเฉพาะในหมูเช่นกัน ซึ่งโรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ ทำให้แม่หมูแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ ความเสียหายอาจไม่รุนแรงเท่าโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) พบรายงานการระบาดครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2530 และประเทศเยอรมันนี ทวีปยุโรป ในปี พ.ศ.2533 ปัจจุบันโรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
สำหรับการรักษาโรค PRRS นั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษา การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้ยาลดการอักเสบและลดไข้ในแม่หมูจะช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนวัคซีนป้องกันโรค PRRS ในปัจจุบันนั้นมีทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนยังให้ผลที่ไม่แน่นอน
ดังนั้นจึงควรเน้นการจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดีเป็นหลัก ซึ่งทั้งโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) กับ โรคเพิร์ส (PRRS) สามารถนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มาใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับฟาร์มได้