คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวบาล พ.ศ. …. พร้อมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวบาลมีสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวบาล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ “วิชาชีพสัตวบาล” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการจัดการใด ๆ ต่อสัตว์เลี้ยง การจัดการผลผลิตและผลิตภัณฑ์สัตว์ และให้รวมถึงการจัดการด้านต่าง ๆ ที่มีผลทำให้สัตว์แข็งแรงสมบูรณ์ “สัตว์เลี้ยง” หมายถึง สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค การใช้งาน การใช้ผลผลิต และเพื่อความพึงพอใจของมนุษย์ เช่น การเลี้ยงสัตว์สวยงาม ทั้งนี้ไม่รวมสัตว์น้ำและสัตว์ป่า
2. ให้มีสภาสัตวบาลเป็นนิติบุคคล โดยมีอำนาจหน้าที่รับขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาล รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตรอนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพ สัตวบาลของสถาบันต่าง ๆ รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรม เป็นต้น
3. กำหนดให้รายได้สภาสัตวบาลมาจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สิน และกิจกรรม ตามวัตถุประสงค์ เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาสัตวบาล รวมถึงดอกผลของเงินและทรัพย์สินดังกล่าว
4. ให้สมาชิกสภาสัตวบาล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ มีความรู้ในวิชาชีพสัตวบาลโดยได้รับปริญญาในสาขาวิชาชีพสัตวบาล สัตวศาสตร์ เทคโนโลยีการผลิตสัตว์จากสถาบันที่สภาสัตวบาลรับรอง
5. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก คือ ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาล
6. ให้มี “คณะกรรมการสัตวบาล” ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรรมการที่มาจากหน่วยงานราชการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการสัตวบาลตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสัตวบาล จัดตั้งสำนักงานของสภาสัตวบาล เป็นต้น
7. ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพสัตวบาล หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาสัตวบาล
8. ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท ก. และประเภท ข. และ ผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสัตวบาลต้องมีคุณสมบัติดังนี้
8.1 ประเภท ก. ต้องได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตหรือสูงกว่าในสาขาสัตวบาล หรือสัตวศาสตร์ หรือเทคโนโลยีการผลิตสัตว์จากสถานศึกษาในประเทศไทย ที่ทบวงมหาวิทยาลัยหรือสำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการรับรองและสภาสัตวบาลรับรองและเป็นสมาชิกแห่งสภาสัตวบาล และสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น
8.2 ประเภท ข. มีความรู้ในวิชาชีพสัตวบาล โดยได้รับปริญญาสาขาอื่นที่มิใช่สัตวบาล สัตวศาสตร์หรือเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ หรือได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือวุฒิบัตรหรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาที่สภาสัตวบาลรับรอง และผ่านการสอบความรู้ตามข้อบังคับสภาสัตวบาลและเป็นสมาชิกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย