18 เมษายน 2566 คือวันที่ “ความจริง” ปรากฎว่าพบ “หมูเถื่อน” 4.5 ล้านกิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ จากจำนวน 220 ตู้ ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงกรมศุลกากรขอรับทราบแนวทางในการปราบปราม และให้ข่าวหลังยกทีมไปเข้าพบผู้บริหารของกรมฯ ถึงท่าเรือแหลมฉบัง มันคืออะไร? เพราะที่ผ่านมา ได้รับการยืนยัน ว่าสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล อาหารสัตว์หรือสินค้าอื่น แต่วันนี้ “หลักฐาน” ปรากฎชัดมัดตัว
ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันว่า “หมูเถื่อน” ยังวนเวียนอยู่ในประเทศไทย และใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นช่องทางหลักในการนำเข้าและระบายออกไปสู่ห้องเย็น ต่อไปยังตลาดสดและผู้บริโภคนานกว่า 1 ปี จับเท่าไรก็ไม่หมด ที่สำคัญออกมาจากท่าเรือได้อย่างไร? ทั้งที่การตรวจปล่อยสินค้าต้องผ่านการสแกนด้วยเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบสินค้านำเข้าต้องเป็นผู้ให้คำตอบ
หากสังเกตเส้นทาง “หมูเถื่อน” จะพบว่า ที่เคยจับได้ในประเทศระหว่างการขนส่ง หรือจับได้ที่ห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่ต้นปี 2566 ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ตามจังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สระแก้ว มุกดาหาร สงขลา เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ ว่า การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หน้าท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้การลักลอบลากตู้สินค้าออกจากท่าเรือยากลำบากมากขึ้น ตู้สินค้าที่มีเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเหล่านี้จึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสีหนุ วิลล์ ในกัมพูชา หรือในดานังของเวียดนาม หรือปีนัง ของมาเลเซีย แล้วขนส่งมาตามช่องต่างๆ ตามตะเข็บชายแดนมาเข้าไทย สมมติฐานนี้ คือ มีการส่งสัญญาณจากประเทศไทยไปให้เจ้าของสินค้า?
“หมูเถื่อน” นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนแช่แข็ง ต้นทางมาจากหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก บราซิล สเปน เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเนื้อหมูจากประเทศเหล่านี้มีต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก เพราะได้เปรียบจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่ำมาก ทำให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของเขาอยู่ที่ระดับ 40-60 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อรวมค่าขนส่งมาถึงไทย ประมาณ 25 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ยังสามารถขายได้และมีกำไรเป็นที่พอใจของเหล่าร้าย
เมื่อ “ความแตก” สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ออกข่าวประชาสัมพันธ์ตามหลังสมาคมฯ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เนื้อหาเน้นเรื่องการตรวจยึดและดำเนินคดีสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างภายในท่าเรือฯ จำนวน 161 ตู้ น้ำหนัก 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 225 ล้านบาท (ราคาประเมินน่าจะต่ำกว่าราคาตลาดมาก) จากจำนวนตู้ตกค้าง 220 ตู้ อีก 59 ตู้ เป็นเนื้อสัตว์อื่น ๆ น้ำหนัก 1.65 ล้านกิโลกรัม และส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ไปทำลายแล้ว 13 ตู้ (แล้วหมูเถื่อนที่เหลืออยู่หนใด ทำไมไม่ส่งไปทำลาย)
ตบท้ายสำนักงานศุลกากรฯ ยังย้ำว่า ได้กำชับให้ทุกส่วนงาน เข้มงวดในการตรวจปล่อยสินค้า เพื่อมิให้เกิดการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าประเภทสุกรที่ผิดกฎหมาย เร่งสำรวจของตกค้างและส่งมอบ “หมูเถื่อน” ให้กับกรมปศุสัตว์เพื่อนำไปทำลาย พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมฯ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความโปรงใสในการทำงาน เพื่อตอกย้ำการทำงานที่โปรงใส่ของกรมศุลกากร
กรมฯ ได้ทำหนังสือเชิญสื่อมวลชนไปร่วมงานแถลงข่าวผลงานการจับกุมของกรมศุลกากรในวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แต่มีการยกเลิกกระทันหัน เปลี่ยนสถานที่แถลงข่าวมาเป็นที่กรมศุลกากร ที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครแทน โดยไม่ได้รับแจ้งเหตุผลว่า..เกิดอะไรขึ้น? สังคมต้องรอ “ความจริง” เรื่องหมูเถื่อน จะถูกเบี่ยงเบนไปเป็นเรื่องผลงานกรมฯ แทน เพื่อลดกระแสการทำงานล่าช้า ที่สำคัญการดำเนินคดีกับผู้กระผิดทำตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีบทลงโทษสูงกว่า พระราชบัญญัติป้องกันโรคระบาด พ.ศ. 2558 ของกรมปศุสัตว์ มาก แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการฟ้องร้องผู้กระทำผิดด้วยกฎหมายด้วยกฎหมายของกรมศุลฯ เลย ทำให้ไม่สามารถสืบสาวถึงต้นตอผู้กระทำผิดตัวจริงได้
ข้อมูลเหล่านี้ ต้องถึงหูรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ภาพยนต์เรื่องนี้คงไม่ใช่ตอนเดียวจบ แต่ต้องเป็นซีรี่ที่ภาครัฐต้องดำเนินการให้เด็ดขาดผู้กระทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้ความร่วมมือ