ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article) สัตว์ปีก (Poultry) สุกร (Pig)

คูลลิ่งแพด (Cooling Pad) ชนิดต้านการก่อตัวของหินปูน

โรงเรือนที่ใช้ระบบปรับอากาศด้วยการระเหยน้ำ (Evaporative Cooling House) หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “โรงเรือนอีแวป” เป็นโรงเรือนแบบปิดที่ใช้ระบบการระบายอากาศร่วมกับการปรับอากาศด้วยการระเหยน้ำ อุปกรณ์สำคัญของระบบนี้ก็คือ “แผ่นทำความเย็น” (Cooling Pad หรือ Pad) ซึ่งมีหน้าที่ดูดซับน้ำไว้ในเนื้อกระดาษและปล่อยให้มีการระเหยน้ำออกไป ทำจากกระดาษ Kraft ชั้นดีผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง จะได้กระดาษที่เรียกว่า Special Impregnated Cellulose Paper มีลักษณะเป็นกระดาษลอนที่มีขนาดสม่ำเสมอกันโดยตลอด นำกระดาษนี้มาประกอบติดกันด้วยกาวชนิดพิเศษที่สามารถซึมน้ำได้ โดยวางแนวลอนกระดาษสลับไขว้กันเป็นท่ออากาศ (flutes) แล้วอบความร้อนด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมทำให้กาวติดแน่นแล้วนำมาตัดเป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการ

แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ควรมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำและระเหยน้ำได้ดี มีความแข็งแรงสามารถทรงตัวได้ดีเมื่ออุ้มน้ำเต็มที่ ไม่อ่อนนุ่มหรือยุบตัว กระดาษไม่ปริแยกจากกัน และไม่เปื่อยยุ่ยหรือเน่าสลายง่ายแม้กระดาษจะเปียกและแห้งสลับกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นควรมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นสูง และมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ต่ำ และควรใช้งานร่วมกับน้ำสะอาดปราศจากตะกอนและสิ่งปนเปื้อนมีค่า pH 6 – 8 ค่าความกระด้างรวม (Total Hardness) ไม่เกิน 150 ppm และค่าสภาพด่างรวม (Alkalinity) ไม่เกิน 100 ppm ถ้าน้ำที่ใช้มีคุณภาพไม่ดีหรือมีความกระด้างสูง จะทำให้หินปูนก่อตัวสะสมอยู่บนกระดาษที่ใช้ทำแผ่นทำความเย็นเร็วมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการระเหยน้ำหรือการทำความเย็นลดลง ความกดดันลด (Pressure Drop) จะมีค่าสูงขึ้น และอายุการใช้งานจะสั้นลง

ลักษณะการก่อตัวของหินปูนบน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad)
ตารางแสดงผลที่เกิดจากการก่อตัวของหินปูนบน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad)

จากตารางข้างบนนี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการสะสมของหินปูนบน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ตั้งแต่ 10, 20, 30, 40 และ 50 % ประสิทธิภาพการทำความเย็นจะลดจาก 88% เหลือ 79.20, 63.36, 44.35, 26.61 และ 13.31 % ทำให้อุณหภูมิอากาศหลังผ่านการระเหยน้ำสูงขึ้นจาก 27.2 °C เป็น 28.5, 30.8, 33.6, 36.1 และ 38.1 °C ความกดดันลด (Pressure Drop) จะสูงขึ้นจาก 30.0 Pa เป็น 33.0, 39.6, 51.5, 72.1 และ 108.1 Pa และประสิทธิภาพในการระบายอากาศจะลดลงจาก 100% เหลือ 98.67, 95.75, 90.06, 78.07 และ 49.25 % ตามลำดับ ทั้งนี้ ย่อมทำให้ประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ของโรงเรือนอีแวปลดลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

จากสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย ไม่ได้เอื้ออำนวยหรือส่งผลดีต่อการเลี้ยงสัตว์เลย แต่ทำไมการผลิตไก่เนื้อของไทยจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งและผลิตภัณฑ์ในอันดับที่ 4 ของโลก ทั้งนี้ เป็นเพราะเทคโนโลยีการผลิตไก่เนื้อของไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะการนำโรงเรือนปรับอากาศด้วยการระเหยน้ำ (Evaporative Cooling House) หรือโรงเรือนอีแวป มาใช้ในสภาวะอากาศร้อนชื้นอย่างได้ผล ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จทางเทคโนโลยีของไทย แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานของโรงเรือนอีแวปขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้น การออกแบบก่อสร้างและการเลือกใช้อุปกรณ์ต้องเป็นไปอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้โรงเรือนอีแวปมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุดเท่าที่จะทำได้  เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประสิทธิภาพของโรงเรือนอีแวปย่อหย่อนลง ความเสียหายหรือความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นกับสัตว์ที่เลี้ยงอยู่ในโรงเรือนอีแวปอย่างแน่นอน

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายหรือความสูญสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้ ตามมาตรฐานการเลี้ยงไก่เนื้อขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 2.50 กก. ในปัจจุบันให้ใช้เวลาเลี้ยงไม่เกิน 40 วัน มีอัตราอาหารแลกเนื้อ (FCR) ไม่เกิน 1.65 มีอัตราความสูญเสียไม่เกิน 3% และมีค่า Performance Index ไม่เกิน 367 คำแนะนำเกี่ยวกับสภาวะอากาศที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่เนื้อ มีดังนี้ อัตราความเร็วลมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.7 เมตร/วินาที อัตราถ่ายเทอากาศไม่น้อยกว่า 90 Air Change/h อุณหภูมิเฉลี่ยกลางโรงเรือนไม่เกิน 30 °C และมีค่า Heat Stress Index ไม่เกิน 167

เมื่อใดที่สภาวะอากาศในโรงเรือนเลวลง ความเครียดของไก่จะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการกินอาหารลดลง ค่า FCR สูงขึ้น อายุการเลี้ยงเพิ่มขึ้น และอัตราความสูญเสียสูงขึ้น เช่น การเลี้ยงไก่เนื้อขนาด 2.50 กก. ที่ความหนาแน่นไม่เกิน 28 กก./ม2 ในโรงเรือนอีแวปขนาด 160 x 120 ม2 จำนวน 21,500 ตัว (จำนวนไก่ส่งตลาด) ถ้าสภาวะอากาศในโรงเรือนเลวลงและทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้นถึง 32 – 33 °C จะทำให้ค่า FCR สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 0.05 หมายความว่าต้องใช้อาหารในการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นอีก 2,687.5 กก. เพื่อให้ได้น้ำหนักตามกำหนด ถ้าอาหารไก่เนื้อราคา 23.70 บาท/กก. ก็เท่ากับเสียหายเป็นเงิน 63,693.75 บาท และอาจต้องเสียเวลาจับไก่ขายอีกไม่น้อยกว่า 2 – 3 วัน นอกจากนั้นไก่เนื้อขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 2.0 – 2.2 กก. อาจตายเพราะความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ได้ถึง 10% หรือคิดเป็นความเสียหายประมาณ 2,150 ตัว ถ้าต้นทุนไก่ขณะนั้นอยู่ที่ 30 บาท/กก. นั่นหมายความว่าต้องสูญเสียเงินไปไม่น้อยกว่า 129,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับต้องสูญเสียเงินไปไม่น้อยกว่า 192,693.75 บาท

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ น้ำบาดาลในประเทศไทยส่วนใหญ่มักมีความกระด้างค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้หินปูนก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราความกระด้างของน้ำที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) จนเป็นปัญหาที่มักแก้กันไม่ตกสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์เกี่ยวกับการใช้งานโรงเรือนอีแวป

บริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด

บริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด เป็นผู้ผลิตแผ่นทำความเย็นในประเทศไทยและเป็นของคนไทย ที่มีคุณภาพระดับแนวหน้าของโลกและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศไม่น้อยกว่า 60 ประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการก่อตัวของหินปูนบนแผ่นทำความเย็นไม่น้อยกว่าผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ทั่วไป จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการก่อตัวของหินปูนบนแผ่นกระดาษที่ใช้ทำ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ได้เป็นผลสำเร็จ และบริษัทฯได้ทำการทดลองเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมียับยั้งการก่อตัวของหินปูน โดยสมมุติตามสถานการณ์ใช้งานร่วมกับน้ำที่มีความกระด้างสูงและมีความเข้มข้นของหินปูนสูงเพื่อเร่งปฏิกิริยาการก่อตัวของหินปูน โดยใช้ แผ่นทำความเย็น CeLPad®#0790 ซึ่งเป็นรุ่นที่นิยมใช้กันทั่วไปเป็นอุปกรณ์หลักในการทดลอง โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นผลิตภัณฑ์ CeLPad®#0790 ตามปกติที่ใช้งานทั่วไป และกลุ่มที่ 2 เป็นผลิตภัณฑ์ CeLPad®#0790 ที่ผ่านการชุบสารเคมีที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการก่อตัวของหินปูน การทดลอง ใช้น้ำที่มีความกระด้างสูงและมีความเข้มข้นของหินปูนสูงไหล่ผ่าน CeLPad®#0790 ทั้ง 2 กลุ่ม และให้มีการระเหยน้ำอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน แล้วทำการเปรียบเทียบการก่อตัวของหินปูนด้วยภาพถ่าย 3D microscope และภาพ Image J เพื่อประเมินอัตราการก่อตัวของหินปูนบนเนื้อกระดาษ จากผลการทดลอง พบว่า CeLPad®#0790 ในกลุ่มที่ 2 มีการก่อตัวของหินปูนน้อยกว่า CeLPad®#0790 ในกลุ่มที่ 1 ประมาณ 10 เท่า

ปัจจุบัน บริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการก่อตัวของหินปูน และประสิทธิภาพการใช้งานโรงเรือนอีแวปสำหรับการเลี้ยงสัตว์ จึงได้ต่อยอดจากการค้นคว้าวิจัยเข้าสู่สายงานการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว โดยให้ชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า CeLPad Xtreme® ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ตัวแทนจำหน่ายหรือที่บริษัทฯ โดยตรง

ขอขอบคุณฝ่ายวิชาการบริษัท ฮิวเทค (เอเชีย) จำกัด 

 

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com