ชาวเน็ตร่วมแสดงความเห็น หลังแอดมินกลุ่ม ‘เสียงบ่นจากฟาร์มโคนม-โคเนื้อ : Murmur On Cattle Farm’ โพสต์ “วัวจากพม่าจะกลับมา…28 พ.ย. 2566” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ผู้เลี้ยงโคเนื้อไทยต้องจับตาว่า กรมปศุสัตว์จะออกประกาศชะลอนำเข้า “โค-กระบือ-แพะ-แกะ” จากเมียนมาร์ อีกหรือไม่
คุณสมศักดิ์ เพ็ชรศิริ แอดมินกลุ่ม เสียงบ่นจากฟาร์มโคนม-โคเนื้อ : Murmur On Cattle Farm ซึ่งมีสมาชิก 2.1 หมื่นราย ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า #วัวจากพม่าจะกลับมา…28 พ.ย. 2566
1. มีภาพหลุดจากกรมปศุสัตว์ (13 พ.ย.2566) “กลุ่มพ่อค้าวัวเนื้อเข้าพบอธิบดีและอดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ อยากให้นำเข้าวัวจากพม่า และยังใช้สารเร่งเนื้อแดง อ้างว่าช่วยลดต้นทุนในการขุนและตลาดมีความต้องการ”
2. ย้อนอดีตให้ฟัง
2.1 กรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศชะลอการนำเข้าโค-กระบือ จากเมียนมาร์ โดยอ้างว่ายังมีรายงานการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health : WOAH) รวม 3 ครั้งๆ ละ 90 วัน ครั้งที่ 1 เมื่อ 1 มี.ค. 2566 – 29 พ.ค. 2566 / ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 30 พ.ค. 2566 – 28 ส.ค. 2566 / และครั้งที่ 3 ตั้งแต่ 29 ส.ค. 2566 จะครบกำหนดในวันที่ 27 พ.ย. 2566
(ครั้งที่ 1) กรมปศุสัตว์ ชะลอนำเข้าโค กระบือ จากเมียนมาร์ หลัง FMD ระบาด
(ครั้งที่ 2) กรมปศุสัตว์ ชะลอนำเข้า “โค-กระบือ” จากเมียนมาร์ อีก 90 วัน
(ครั้งที่ 3) กรมปศุสัตว์ประกาศชะลอนำเข้า “โค-กระบือ” จากเมียนมาร์ อีก 90 วัน หลังยังพบการระบาดปากและเท้าเปื่อย (FMD)
2.2 วันที่ 7 ต.ค. 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตาม/รับฟังบรรยายสถานการณ์นำเข้าวัวจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีมวลชนจากจังหวักตากเรียกร้องให้เปิดการนำเข้า และมวลชนจากจังหวัดสุโขทัยร้องเรียนเรื่องโคขุนราคาตกต่ำ
2.3 วันที่ 3 พ.ย. 2566 นายไชยา พรหมา รมช. เกษตรฯ ซึ่งดูแลกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด กลุ่มมวลชนวอนเร่งแก้ปัญหาการค้าโค-กระบือข้ามแดน ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากการปิดด่านฯ
2.4 วันที่ 14 พ.ย. 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมจุดนำเข้าวัวจากพม่าที่ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3. ประเด็นการใข้สารเร่งเนื้อแดง แม้เวียดนามถือเป็นสารต้องห้ามในการนำเข้าโคเนื้อ แต่ทางกลุ่มผู้เลี้ยงจะใช้วิธีถอนยาก่อนส่งออกจนกว่าจะหมดฤทธิ์ (ตรวจไม่พบ) > ถ้าสารเร่งเนื้อแดง สามารถใช้ในวัวขุนได้อย่างถูกกฎหมาย ในสุกรขุนก็สามารถใช้ได้ สุดท้ายอเมริกาก็สามารถส่งเนื้อสุกรเข้าไทยได้
**เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และโคเนื้อของไทย หมดอนาคตแน่นอน**