ภาพที่เห็นจนคุ้นตาเคียงคู่วิถีชีวิตชาวนาไทยในชนบท คือ ทุกวันแต่เช้าจะเห็นการจูง “ควาย” ออกจากคอกไปเลี้ยงตามท้องไร่ท้องนาหรือใช้งาน ซึ่งในอดีตการดำเนินชีวิตของชาวนาไทยจะใช้ควายไถนาเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ควายเหล็ก (รถไถนา) เหมือนอย่างทุกวันนี้ และในขณะเดียวกันเมื่อเอ่ยถึงควาย สิ่งที่อยู่คู่กับการเลี้ยงควาย คือ “เด็กเลี้ยงควาย” นั่นเอง
แต่ทว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปภาพเหล่านั้นเริ่มไม่ค่อยเห็นแล้วในปัจจุบัน ประกอบกับจำนวนประชากรควายลดลง และการทำนาในปัจจุบันได้ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาทำงานแทนที่ควายมากขึ้น ทำให้บทบาทของการใช้งานจึงลดน้อยลงตามไปด้วย พอๆ กับวิถีชีวิตของเด็กเลี้ยงควายที่ค่อยๆ เลือนหายไป
จิราภัค ขำเอนก หรือ คุณผึ้ง แห่งคอกควาย “รวินันท์ฟาร์ม” 139 หมู่ 6 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ผู้ที่จะมาพิสูจน์ชีวิตเด็กเลี้ยงควายให้ประจักษ์มากขึ้น ซึ่งคนในวงการควายไทยจะรู้จักกันในนาม “ผู้หญิงเลี้ยงควาย” การันตีด้วยโล่รางวัลเกียรติยศ เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ดีเด่น ระดับประเทศและได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
เธอเป็นใคร ทำความรู้จักกันหน่อย
คุณผึ้งเรียนจบปริญญาตรีด้านสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ตามความต้องการของพ่อแม่เนื่องจากที่บ้านทำฟาร์มหมู แต่เมื่อเธอเรียนจบกลับค้นพบว่าการที่เป็นเด็กเกษตรก็มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจมาก จนกระทั่งทำงานเป็นลูกจ้างประจำ เพียงเพราะคิดว่าเป็นงานที่ดีและอาจทำให้เธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ทำอยู่ระยะหนึ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ
ระหว่างนั้นเธอได้เลี้ยง “ควาย” ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นควายที่แฟนของเธอซื้อสะสมไว้ โดยแบ่งให้ชาวบ้านในอำเภอนางรองเลี้ยงเพื่อแบ่งลูกกัน จนมีควายร่วม 40 ตัว ต่อมาคนที่แบ่งควายให้เลี้ยงคืนควายให้เธอทั้งหมด เธอจึงนำกลับไปเลี้ยงที่จังหวัดสุรินทร์ และขายออกไปบางส่วน เก็บไว้เฉพาะตัวที่มีลักษณะดีประมาณ 28 ตัว เลี้ยงอยู่ระยะหนึ่งจึงย้ายกลับมาเลี้ยงที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ปัจจุบัน สุดท้ายลาออกจากงาน เพื่อมุ่งหน้าสานฝันโดยการทำฟาร์มควาย
“บอกตรงๆ เลยว่าทีแรกเป็นคนไม่ชอบวัว ควาย ตอนเรียนสัตว์ใหญ่ก็ไม่เอาเลย แต่พอรู้จักกับแฟน เวลานั่งรถไปด้วยกันเขาจะจอดข้างทางเพื่อเดินไปดูควายตัวโน้นตัวนี้ เราก็ได้แต่นั่งรอในรถทำให้รู้สึกเบื่อ พอบ่อยครั้งเข้าก็ลงไปด้วย ทำให้รู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและรู้สึกชอบในเวลาต่อมา จนทุกวันนี้ทำเองทั้งหมด ทั้งการจัดการฟาร์ม ฉีดยาวัคซีน สังเกตุอาการและพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเกิดอาการที่เกินกว่าตนเองดูแลได้ จะมีสัตวแพทย์คอยให้คำปรึกษา แนะนำ บางกรณีก็จะเข้ามารักษาให้ในฟาร์ม”
VDO สัมภาษณ์พิเศษ
ตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเป็น “ผู้หญิงเลี้ยงควาย”
หลังจากลาออกจากงาน ทำให้เธอคิดว่าเป็นการตัดสินใจเลือกที่ไม่ผิด เนื่องจากสิ่งที่ได้รับ คือ ความสุข ความเป็นอิสระทางความคิด และที่สำคัญคือครอบครัว อีกอย่างมองว่าการเลี้ยงควายเป็นอาชีพที่มั่นคง
เมื่อนำควายจำนวน 28 ตัว มาเลี้ยงที่นี่ (รวินันท์ฟาร์ม) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือนและแปลงหญ้าตามความเหมาะสม ปัจจุบันมีควายจำนวน 34 ตัว ตัวผู้ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ทั้งหมด 10 ตัว ตัวเมีย 24 ตัว มีตัวเก่งอนาคตไกล ซึ่งเป็นลูกของ “พญาหงษ์” ควายพ่อพันธุ์ระดับแถวหน้าของไทย ตัวแรกชื่อ “สุดยอด หนุ่มเมืองแป๊ะ” ลูกของแม่กุหลาบ ตัวที่สองชื่อ “ถังทอง” ลูกของแม่ดอกคูณ ส่วนตัวที่สามชื่อ “สุดหล่อ” เป็นลูกของ พลายแก้ว พ่อพันธุ์ควายเผือกที่มีชื่อเสียง กับแม่แสนสวย แต่ต้องรออีกระยะหนึ่ง เพื่อโครงสร้างทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการเลี้ยงของคุณผึ้งจะเลี้ยงควายแบบกึ่งปราณีต เพราะยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติของควายไว้ ได้เดินแทะเล็มหญ้าที่แปลง นอนปลัก แช่น้ำ เน้นให้อยู่สบายและกำหนดเวลาชัดเจน บริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ง่ายต่อการดูแลและไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ควายที่เธอเลี้ยงยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ดีเด่น ระดับประเทศ เป็นต้น
ส่วนวิธีการเลี้ยงควายของเธอนั้นไม่ยุ่งยาก ตอนเช้าจะปล่อยให้แทะเล็มแปลงหญ้าประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็จะให้นอนแช่น้ำครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็จะนำกลับเข้าคอก กินฟางข้าวและเสริมด้วยอาหารข้น ช่วงเย็นประมาณ 16.00 น. ก็จะนำออกจากคอกไปแช่น้ำและกินหญ้าในแปลงอีก 1 ชั่วโมง จึงจะกลับเข้าคอกเพื่อหลับนอน เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน นอกจากนี้รวินันท์ฟาร์มยังได้รับการรับรองให้เป็นฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์อีกด้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ควายไทย อนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้เข้ามาเยี่ยมชม
“มาถึงจุดนี้ได้ก็ภูมิใจมากแล้ว จากที่เคยเดินเลี้ยงควายธรรมดา ไม่มีใครรู้จัก แต่วันนี้กลับเปลี่ยนไปมาก มีชื่อเสียงขึ้น คนรู้จักมากขึ้น สามารถก้าวข้ามความรู้สึกของคนในครอบครัวได้ ซึ่งเมื่อก่อนเขามองว่าเราจะไปรอดไหม เลี้ยงแล้วจะขายให้ใคร เพราะราคามันถูก แต่ก็สามารถผ่านมาได้เพราะคำว่าอดทนให้ถึงที่สุดนั่นเอง”
อย่างไรก็ตามช่วงที่ท้อแท้ “ครอบครัว” ของเธอจะคอยให้กำลังใจและเคียงข้างเธอเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า เธอคิดที่จะขายควายทั้งหมดออกไป เนื่องจากปัญหาหลายๆ ด้าน รุมเร้า ประกอบกับรู้สึกท้อและเหนื่อย แต่เมื่อเจอคุณลุงท่านหนึ่งที่เข้ามาเก็บของไปขาย ทำให้เธอคิดได้ว่าเขายังมีแรงสู้ แล้วเราจะขายสิ่งที่อุตส่าห์สร้างมากับมือได้อย่างไร จะทุบกระปุกออมสินตัวเองอย่างนี้หรือ ยิ่งไปกว่านั้นตอนที่โทรศัพท์คุยกับแม่ บอกกับแม่ว่าไม่ไหวแล้ว แต่เสียงที่เล็ดลอดออกมาว่า “ก็แล้วแต่ คิดดู ทีตอนจะทำยังดื้อที่จะทำ แล้วทีตอนนี้ทำไมไม่ดื้อที่จะทำต่อ” ยิ่งตอกย้ำให้เธอฮึดสู้และผ่านมันมาได้จวบจนปัจจุบัน
“อย่ามองอาชีพเลี้ยงควายเป็นเพียงแฟชั่นหรือแค่ผิวเผิน ควรมองว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง บางครั้งอาจคิดว่าเลี้ยงง่าย ทำได้ไม่ยาก แต่หากจะทำต้องมาจากจิตใจ เพราะในการเลี้ยงควายสิ่งสำคัญที่สุดคือ ใจต้องรักและทุ่มเทให้เต็มที่”
“ควาย” ตลาดไม่ตัน
ด้านตลาดเธอมีเป้าหมายในการทำฟาร์มที่ชัดเจน โดยแบ่งตลาดออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. หากมีควายที่ไม่สวย ไม่สามารถทำเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ก็จะขุนขายป้อนตลาดผู้บริโภคเนื้อ
2. ควายตัวสวยพอใช้ได้ สามารถนำไปคุมฝูงในฟาร์มก็จะขายในราคาที่สูงกว่าตลาดเนื้อ แต่ไม่สูงมากนัก เกษตรกรผู้ที่สนใจสามารถหยิบต้องได้
3. ควายที่มีรูปร่างดี โครงสร้างใหญ่ ลักษณะสวยงาม ก็จะขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่กล่าวมาข้างต้น แล้วแต่ความพึงพอใจของลูกค้า
สาเหตุที่ทำในลักษณะนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความหลากหลายในการทำฟาร์ม ส่วนการตั้งราคาจะดูรูปร่างลักษณะของควายเป็นหลัก โดยดูเหล่าของพ่อ-แม่พันธุ์ และลักษณะเด่นของแต่ละตัวว่าสามารถต่อยอดได้หรือไม่
นอกจากนี้คุณผึ้งยังทำผลิตภัณฑ์ “นมควาย” และ “โยเกิร์ต” อนาคตจะพัฒนาฟาร์มให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงควาย และทำเป็นฟาร์มสเตย์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและวิธีการเลี้ยงควาย ได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตชนบทในรูปแบบเชิงท่องเที่ยว
“อย่าดูถูกในอาชีพที่ตัวเองทำ ให้รักศรัทธา และซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่ทำ หลายๆ คนอาจมองหาอาชีพหรือหน้าที่การงานที่ทำให้มีหน้ามีตาในสังคม การเลี้ยงควายอาจจะไม่ใช่อาชีพที่ทำให้มีหน้ามีตา แต่เป็นอาชีพที่ทำให้มีกินมีใช้ตลอดชีวิต”
ขอขอบคุณ คุณจิราภัค ขำเอนก แห่ง รวินันท์ฟาร์ม 139 หมู่ 6 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โทร. 086-257-3364