ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เนื่องจากเป็นยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้การทำงานง่ายและสะดวกมากขึ้น การปรึกษาหารือหรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ สามารถทำได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อยู่มุมไหน อำเภอไหน จังหวัดไหนของประเทศ สังคมออนไลน์ (Social) ก็สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้

แวดวงปศุสัตว์ก็เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสุกร ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้าถึงปัญหาหรือแม้กระทั่งการพูดคุยต่างๆ ทำได้ง่ายมาก แต่!!!ปัญหาเหล่านั้น เกษตรกรหรือกลุ่มผู้เลี้ยงจะไม่ได้รับการคลี่คลายเลย หากไม่มีกลุ่มผู้ดูแล (แอดมิน) หรือผู้ที่คอยช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน หนึ่งในนั้นคือคุณวันชัย มาเพ้า หรือคนในสังคมออนไลน์กลุ่ม “เรื่อง หมู หมู (Swine Production)” และกลุ่มสุกรอื่นๆ รู้จักกันคือ “หมอแบ็ค” แอดมินจิตอาสาสายเฟี้ยว ผู้ที่มีบุคลิกขรึม จริงจัง แต่เปี่ยมด้วยจิตใจอันดีงาม อยู่วงการสุกรมากว่า 20 ปี ปัจจุบันเขาทำงานดูแลฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครนายก
โลกออนไลน์แหล่งเรียนรู้โรค
การเข้าสู่สังคมออนไลน์ (Social) หรือการเป็นแอดมินกลุ่ม เริ่มต้นจาก “ปัญหาเรื่องโรค” ของฟาร์มเกษตรกรและคนรู้จักที่เลี้ยงสุกร ปรึกษาปัญหาเรื่องสุกรป่วย รักษาไม่หาย และไม่ทราบว่าจะรักษาด้วยวิธีการใด ซึ่งเป็นเคสที่หลายๆ ฟาร์มประสบปัญหา หรือบางฟาร์มมีอาการในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ฉะนั้นการโทรศัพท์อธิบายอาจมีเวลาไม่เพียงพอ จึงสร้างกลุ่มเฟสบุ๊ค (Facebook Group) ขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม โปรแกรมการใช้วัคซีน การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม และรู้ทันโรคต่างๆ โดยเริ่มจากสมาชิกเพียงไม่กี่ราย จากนั้นก็เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาได้เขียนบทความเรื่อง “การใช้ยาปฏิชีวนะในหมูแม่พันธุ์หลังคลอด” ลงในกลุ่มฯ ทำให้เกิดการแชร์ไปยังกลุ่มอื่นๆ มากมาย จนเป็นที่รู้จักและแอดขอร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น
โดยจุดประสงค์หลักในการเขียนบทความ เนื่องจากทราบปัญหาและข้อสงสัยของเกษตรกรจากหลายๆ กลุ่ม ทำให้ได้เห็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และไม่ถูกต้องบ้าง ที่สำคัญข้อความเหล่านั้นไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งเขาพอทราบและคิดว่าทำไมถึงไม่บอกกล่าวผู้บริโภคให้เข้าใจในทางที่ถูกต้อง เพราะการทราบข้อมูลที่ถูกต้องนั้นน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบทความขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ พอเขียนไปสักระยะหนึ่งก็มีฟีดแบ็คกลับมาค่อนข้างดี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความต่อเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็มีสมาชิกในกลุ่มมากขึ้น และมีแอดมินเพิ่มขึ้นทั้งสัตวแพทย์และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาร่วมกันให้ความรู้ เพื่อความหลากหลายด้านข้อมูล
“ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และแชร์ประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ถูกต้อง เพื่อจะได้สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีใครทำในลักษณะนี้ การเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรก็เป็นเรื่องที่ยาก หรือบางคนก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มีการจำหน่ายสินค้าหรือโฆษณาเกินจริง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้เขียนบทความ เพื่อให้เกษตรกรคิดวิเคราะห์ถึงเหตุและผลอย่างถูกต้อง ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาเหล่านั้น เพราะทุกอย่างคือต้นทุนการผลิต บางอย่างอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยที่เกษตรกรไม่รู้ว่าสินค้าที่ใช้บางอย่างไม่ได้ช่วยอะไร”
สำหรับสิ่งที่เขาทำก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย บางคน บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ปล่อยผ่านไป โฟกัสที่เกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำจริงๆ ซึ่งบางคนใช้เงินจากการเกษียณอายุมาลงทุนกับการเลี้ยง ถ้าได้ที่ปรึกษาที่ดีก็สามารถต่อยอดการเลี้ยงและงอกเงยไปได้ แต่หากไม่มีที่ให้คำปรึกษาหรือเจอคนที่รู้ไม่จริงเงินที่ลงทุนก็จะสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ก็ได้
ด้วยสัญชาตญาณการเป็นแอดมินกลุ่ม “หมอแบ็ค” ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่ยอมรับในสังคมออนไลน์ (Social) โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสุกร แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เขาทำนั้นได้อะไร? ทำไปเพื่ออะไร? บางครั้งก็โดนตำหนิติเตียน รู้หรือไม่เขาตอบว่าอะไร “ความสุข” ความสุขไงที่ได้ช่วยเหลือกลุ่มคนเลี้ยงสุกรด้วยกัน สอนให้คนที่ติดตาม (Follow) เลี้ยงสุกรเป็น มีกำไร ไม่ขาดทุน และประสบความสำเร็จในการเลี้ยงหรือการทำอาชีพ ที่สำคัญคอยตอบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำฟาร์มสุกร หรืออ่านบทความต่างๆ แล้วนำไปปรับประยุกต์ใช้ในฟาร์มของตนเองได้
รอยยิ้มของผู้ชายมาดขรึม จริงจังกับสิ่งที่เขาตั้งใจ ทำให้เห็นว่าเขาหวังดีกับวงการสุกรบ้านเราจริงๆ “อาชีพเลี้ยงหมูสามารถยึดเป็นอาชีพที่ดีได้ แต่การทำเป็นอาชีพต้องหาวิธีการ แนวทางการเลี้ยง และแนวทางการป้องกันโรคให้เป็นมาตรฐานที่มีการควบคุมอย่างถูกต้อง หากทำถูกต้องตามหลักวิชาการจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ในวงการบ้านเราคือ ใครที่มีทุนหนาพอก็สามารถทำฟาร์มได้ การเลี้ยงไปโดยขาดหลักการ ไม่ศึกษาแนวทางหรือองค์ความรู้ให้มากพอ ซึ่งการทำลักษณะนี้มักทำให้การทำฟาร์มอยู่ได้ไม่นาน (ไปไม่รอด) เพราะประสบการณ์มันฟ้องให้เห็นโดยทั่วไป” และแอดมินกลุ่มเรื่อง หมู หมู สายเฟี้ยวทิ้งท้ายด้วยแง่คิดว่า
“การเลี้ยงหมูหรือทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ต้องตั้งอยู่บนหลักความจริง หลักวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ เชื่อในเหตุและผล นั่นแหละคือสิ่งที่ควรทำ”
ขอขอบคุณ : คุณวันชัย มาเพ้า (หมอแบ็ค) แอดมินกลุ่มเรื่อง หมู หมู (Swine Production)