ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะหายไปจากประชาคมโลก ในอุตสาหกรรมหมูทั่วโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับโรคในหมูที่สำคัญอย่าง ASF หรือแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ ที่เกิดการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2561 และการระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ
ภาวะโรค ASF ในหมู ทำให้ราคาหมูในประเทศที่เกิดโรคปรับตัวสูงขึ้น จากการขาดแคลนปริมาณหมูที่เสียหายด้วยภาวะโรค พบว่าราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งในประเทศจีนที่หมูเป็นราคาสูงถึง 172 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 105 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 98 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 89 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ประเทศไทย ที่ยังก่อกำแพงกั้นโรคนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ยังคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” มาจนถึงปัจจุบันนี้ และสามารถยืนราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในภูมิภาค จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร และเกษตรกรทุกคน เพื่อร่วมกันปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู และถือเป็นความสำเร็จระดับภูมิภาคในการป้องกันโรคร้ายแรงในอุตสาหกรรมหมู
ที่สำคัญยังสะท้อนถึงความพร้อมใจของทุกคน ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดภัย และไม่ต้องประสบภาวะขาดแคลนดังเช่นประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลายพื้นที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ จากปัญหาโรคเพิร์ส (PRRS) ซึ่งเป็นโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในหมู ทำให้กำแพงที่เคยสร้างเพื่อป้องกัน ASF ต้องถูกก่อขึ้นไปสูงกว่าเดิมเพื่อป้องกัน PRRS ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมหมูในวงกว้างได้ไม่ต่างกับ ASF หากการป้องกันโรคไม่เข้มแข็งพอ เกษตรกรจึงเน้น ระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) ที่เป็นกุญแจสำคัญในปกป้องฝูงสัตว์จากทุกโรค ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้เพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อตัว
การป้องกันทั้งสองโรคจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูของเกษตรกรต้องสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันยังมีราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยเสริม กลายเป็นภาระที่เกษตรกรต้องยอมจ่าย ซ้ำเติมภาวะขาดทุดที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
สิ่งที่เกษตรกรต้องการร้องขอ คือ “ความเห็นใจ” ว่าพวกเขานั้นมีการเลี้ยงหมูเป็นเพียงอาชีพเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิต ขณะที่กลไกตลาดกลับถูกจำกัด เกษตรกรจำต้องขายหมูในราคา 80 บาท แม้ในภาวะที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ต้องจำยอมให้ราคาหมูไทยถูกที่สุดในภูมิภาคเช่นนี้ โดยไม่มีโอกาสให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี อุปทานที่มากขึ้นของผู้บริโภค ที่ไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ที่น้อยลงจากปริมาณผลผลิตที่หายไปจาก PRRS กลับไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น
วันนี้คนเลี้ยงหมูหวังแค่ “การปลดล็อคกลไกตลาด” เพื่อประคับประคองอาชีพเดียวของพวกเขาเอาไว้ ไม่มีใครอยากเลิกอาชีพจากการต้องแบกรับภาระหนี้สินสะสม เพราะภาวะเช่นนี้จะหันไปทำอาชีพไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่ผู้บริโภคสามารถเลือกทานเนื้อไก่ ไข่ไก่ ปลาที่เป็นโปรตีนทดแทนหมูได้อย่างไม่มีขีดจำกัด… หลังจากนี้คงต้องอาศัยเพียงความเข้าใจของทุกคน เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามทุกวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ขอบคุณ : รัฐพล ศรีเจริญ : sri_rattapol@hotmail.com