ข่าว (News) สุกร (Pig)

“ทางรอด” จากแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์​ (ASF) สำหรับฟาร์มหมูรายย่อย – ปศุศาสตร์ นิวส์

เป็นที่ทราบกันดีว่า​ “การติดเชื้อ ASF มักเกิดในรายย่อย​ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน” สาเหตุเพราะช่องทางการติดโรค​ คือ​ การใช้เศษอาหารที่มี​เนื้อ​สุกรที่ติดเชื้อ​ รถขนส่งที่มาจับสุกรหน้าเล้า​ การใช้น้ำจากแหล่งที่มีความเสี่ยง​ เป็นต้น แต่การป้องกัน​โรค หรือไบโอซีเคียวริตี้ก็ยากที่จะให้รายย่อยปฏิบัติได้​ เพราะ​

1.​”ไม่รู้” เพราะไม่มีใครมาแนะนำ​ง่ายๆ เช่น​ รถซื้อหมูคันเดียวจับพร้อมกัน 5 เล้า​ อาหารสัตว์​คันเดียวส่ง 10 ฟาร์มติดต่อกัน ฟาร์มข้างๆ เป็นโรค มีหมูตาย มีฟาร์มอื่นมา​ช่วยฝัง หรือที่แย่กว่านั้น​ คือมีการลักลอบ​เอาหมูตายออกมาขาย​ ทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว​ เป็นต้น

2.​”ไม่คุ้​ม” รู้แต่ไม่อยากทำ​ เพราะลงทุนสูง​ อาหารสำเร็จรูปก็ราคาแพง​ ต้องเสริมด้วยเศษอาหาร เลี้ยง 20​-30​ ตัว​ จะให้สร้างโรงสเปรย์ฆ่าเชื้อรถราคาเป็นหมื่นเป็นแสน​ ​คงไม่มีใครทำ​

3.”ไม่สนใจ” คือ​ มีศักยภาพ​ที่พอทำได้​แต่ไม่ทำ​ เพราะไม่เห็นความสำคัญ​ ไม่เห็นประโยชน์​ ไม่รู้ผลกระทบ​ เป็นโรคก็เป็น​ โรคเข้าก็เลิก​ เพราะหลายๆ ราย ทำเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น

ทางรอดสำหรับรายย่อย​หรือหลังบ้าน ไม่ใช่ไปแนะนำให้เขาป้องกัน​อย่างเดียวจะไม่ได้ผล ​แต่จะทำอย่างไรไม่ให้คนหรือรถ หรืออะไรก็แล้วแต่เอาเชื้อเข้าไป​ เป็นการป้องกันระดับพื้นที่​ ไล่จากระดับประเทศ​ ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน​ การป้องกันระดับฟาร์ม​อาจจะทำยาก​ แต่การป้องกันระดับพื้นที่​จะทำได้ง่ายกว่า​ เพราะถ้าเกิดโรคแล้ว​ หยุดได้ไม่แพร่กระจาย​ โอกาสที่ฟาร์มอื่นๆ จะรอดก็มีมากขึ้น

การจัดการโดยภาพรวม หรือระดับพื้นที่ที่ว่านี้​ ได้แก่

1.รู้เร็ว​ -​ ต้องรู้ว่าหมูเป็นโรค​ จากอาการ​ รอยโรค​ ขั้นตอนนี้ต้องใช้วิธีอบรมให้ความรู้​ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา​ หรือการเข้าไปหาเกษตรกรที่บ้าน​ โดยอาสาสมัครในชุมชน​ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์​ในท้องที่

2.แจ้งไว​ -​ แจ้งปศุสัตว์​ในพื้นที่เข้ามาตรวจสอบ เกษตรกรอาจไม่แจ้งเอง​ แต่อาจขอความร่วมมือกับกำนัน​ ผู้ใหญ่บ้าน​ อสม.​ เป็นต้น​ เป็นตัวแทนในการรับแจ้งเหตุ​

3.รีบทำลาย​ – ถ้ายืนยันว่าเป็น ASF ต้องทำลายทันที​ พร้อมกับฟาร์มที่อยู่ใกล้เคียง​ เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามจนยากที่จะควบคุม​ ปกติโรคนี้ถ้าเป็นก็จะไม่รอด​ ถ้าไม่ทำลายเชื้อก็จะแพร่กระจายไปฟาร์มอื่นเรื่อยๆ

4.งดเคลื่อนย้าย​ -​ ฟาร์มที่อยู่ในรัศมีพื้นที่เกิดโรคงดเคลื่อนย้าย​ เพื่อเฝ้าดูอาการ​ และตรวจประเมิน​ จนกว่าจะประกาศยกเลิก

5.จ่ายชดเชย​ -​ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรแจ้งเมื่อมีโรคเกิดขึ้น​ และเพื่อลดการต่อต้าน​จากสังคม

แนวทางป้องกันโรคสำหรับฟาร์มรายย่อย/หลังบ้าน​ สามารถทำได้ 6 ข้อ​ ได้แก่

1. แยกเล้าหมูออกจากตัวบ้าน

2. ต้มเศษอาหารก่อนนำไปใช้

3. ไม่ให้ใครเข้ามาในเล้า​

4. เปลี่ยนรองเท้าและล้างมือ

5. ซื้อหมูเข้าจากแหล่งที่ปลอดภัย

6. ขายหมูให้หมดเป็นรอบๆ​

ถ้าทำได้ครบ​ 6 ข้อ​ ก็พอป้องกันได้ระดับหนึ่ง เพราะเรื่องน้ำกินน้ำใช้​ในฟาร์ม อาหารการกินคนงาน​ สิ่งของ​เครื่องใช้ในเล้า สัตว์​พาหะ​ ก็เป็นจุดเสี่ยง​ แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนสำหรับรายย่อย​ จึงไม่ได้นำมาแนะนำ​ และในที่นี้จะขออธิบายเฉพาะข้อ 6 เพราะเป็นจุดที่สำคัญและทำได้ค่อนข้างทำยากสำหรับฟาร์มหลังบ้าน เผื่อเป็นประโยชน์​สำหรับการนำไปปรับใช้

เริ่มจากการขายหมู​ ถ้าเกษตรกรยังขายหมูโดยให้พ่อค้ามาจับที่หน้าเล้า​ ก็ยังเสี่ยงอยู่วันยังค่ำ​ แก้ไม่ได้ แต่ถ้าขายออกไปจนหมดเล้าพร้อมกัน​ ความเสี่ยงก็พอลดน้อยลง โอกาสที่โรคจะแพร่เข้าไปในหมูที่เหลือก็ไม่มี​ รูปแบบนี้​ทำได้เฉพาะฟาร์มที่เลี้ยงขุนอย่างเดียว

สำหรับฟาร์มแม่พันธุ์​ จะมีความเสี่ยงทั้ง​การขายลูกหย่า​ และการขายแม่ปลด​ ตามหลักแล้ว​รถต้องผ่านการล้างให้สะอาด​ ฆ่าเชื้อ​ พักโรค ​8 ชม.​ ก่อนมารับหมู​ แต่ก็ติด​ “ทำไม่ได้” จึงเสี่ยงโดยปริยาย

อีกวิธีคือ​ เกษตรกรเอารถของตัวเองหรือรถรับจ้างที่ควบคุมได้​ ขนหมูไปส่งให้ลูกค้านอกฟาร์ม​ โดยไม่ให้รถมาจับถึงฟาร์ม​ รถที่ขนไปส่งก็นำไปล้างอัดฉีดให้สะอาด​ วิธีนี้ดูดี​ แต่มีคนบอก​ “ไม่คุ้ม” เอาไงต่อ?

อีกวิธี​ ชาวบ้านอาจรวมตัวกัน​ หรืออาจเป็นงบของสมาคมผู้ประกอบการ​เลี้ยงสุกรในจังหวัด​ เป็นต้น​ จัดตั้งงบ (อีกแล้ว) ​จัดทำที่ล้าง​ พ่นยาฆ่าเชื้อรถจับหมู​ ก่อนเข้าหมู่บ้าน​ วิธีนี้ก็ป้องกันได้ระดับหนึ่ง​ เพราะอย่าลืมว่า​ รถที่ไปมาหลายๆ ฟาร์มหลายๆ โรงฆ่าสัตว์​จะเสี่ยงที่สุด​

คิดว่าทุกคนทุกฟาร์มก็อยากให้ไทยปลอดโรค​ แม้ราคาตกไปบ้างแต่ก็จะได้ไม่ต้องเห็นหมูตายหรือถูกทำลายเยอะๆ​ บริษัท​ยา​ บริษัท​อาหาร​ เอเย่นต์​ค้าขายต่างๆ ก็จะอยู่รอด การป้องกันระดับชาติ​ ระดับภาค​ ระดับจังหวัด​ ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ​ที่ทุกคนก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด​ ไม่มีใครอยากให้ไทยเป็นโรคนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด​ ก็คือ​การเฝ้าระวังในพื้นที่ของตัวเอง​ ถ้าประเทศ​เอาไม่อยู่​ บางจังหวัดก็ต้องเอาอยู่​ ต่อไปก็ควบคุมระดับอำเภอ​ ตำบล​ หมู่บ้าน​ และสุดท้ายก็ถึงฟาร์มของเราเอง​ ระดับฟาร์ม​ขนาดกลางขึ้นไปก็พอป้องกันได้​ แต่ระดับฟาร์ม​รายเล็ก​ หรือหลังบ้าน​ จะต้องใช้การควบคุมระดับพื้นที่เท่านั้นถึงจะป้องกันได้​ เช่น​ อบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันเบื้องต้น​ ส่งเสริมให้มีการแจ้งกรณีพบหมูป่วย​ จะได้จัดการได้ถูกวิธี​

ถ้าทุกคนช่วยกัน​ รัฐบาล​ กรมปศุสัตว์​ ผู้ประกอบการ​ รายใหญ่​ รายเล็ก​ รายย่อย​ พ่อค้า​ ขนส่ง​ โรงฆ่าสัตว์​ บริษัท​ยาสัตว์​ ต้องช่วยกันถึงจะรอด​ คนภายนอกก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม​ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน​ กำนัน​ อบต.​ ต้องร่วมมือกันจริงจัง​ถึงจะเรียกว่า​ “วาระแห่งชาติ” และสุดท้ายคือ​ “งบประมาณ” เพราะอย่าลืมว่า​ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง​ ถ้าไม่มีงบในการจัดการป้องกัน​ก็จะล้มเหลว​ ประชาชนก็เตรียมตัวสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังไทยประกาศ​ คือ​ บริษัท​ “ตกงาน” ชาวบ้าน​ “เลิกเลี้ยงหมู” ผู้บริโภค​ “ชื้อหมูแพง” และส่งผลกระทบไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก

ถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่าง​ “สู้ต่อ” หรือ​ “ยอมแพ้” สำหรับมหันตภัย​ในครั้งนี้

ขอบคุณ ​: น.สพ.อดิศักดิ์​ สมอ่อน

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com