ข่าว (News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article) สุกร (Pig)

“ธาตุเหล็ก” เรื่องไม่เล็กสำหรับลูกสุกร ที่คนเลี้ยงหมูต้องรู้ – ปศุศาสตร์ นิวส์

“ธาตุเหล็ก” เรื่องไม่เล็กสำหรับ ลูกสุกร ที่คนเลี้ยงหมูต้องรู้

หากเดินเข้าไปในฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ในส่วนเล้าคลอด ภาพที่เห็นเกี่ยวกับการจัดการลูกสุกรในเล้าคลอดเบื้องต้นคงมีภาพคุ้นตาอยู่ในกี่ภาพ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นการฉีดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นการจัดการที่เราทำอยู่เป็นประจำในทุกฟาร์ม

แต่รู้หรือไม่ว่าเพราะเหตุใดเราจึงต้องมีการฉีดธาตุเหล็กเสริมให้กับลูกสุกร ลูกสุกร ขาดธาตุเหล็กมาตั้งแต่เกิดหรือไม่ ในน้ำนมและอาหารมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือ แล้วธาตุเหล็กมีความสำคัญอย่างไร ถ้าเราไม่เสริมให้ลูกสุกรได้หรือไม่ ในบทความนี้เราจะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความสำคัญของธาตุเหล็กใน ลูกสุกร ไปพร้อมกัน

การที่เราต้องเสริมธาตุเหล็กให้กับลูกสุกรแรกเกิด ไม่ใช่ว่าลูกสุกรนั้นขาดธาตุเหล็กมาตั้งแต่กำเนิด แท้จริงแล้วในช่วงแรกเกิดลูกสุกรทุกตัวจะมีการสะสมธาตุเหล็กไว้ในตับ เพียงแต่ว่าธาตุเหล็กที่สะสมออกมากับตัวลูกสุกรนั้นมีปริมาณน้อยมาก เฉลี่ยเพียง 50 มิลลิกรัม/ตัว เท่านั้น1 และลูกสุกรมีความต้องการใช้ธาตุเหล็กประมาณ 7-16 มิลลกรัม/ตัว/วัน2 ทำให้ธาตุเหล็กที่สะสมมานี้จะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วภายในช่วง 3-7 วันแรกของช่วงชีวิต

นอกจากธาตุเหล็กที่สะสมมาในตับลูกสุกรตั้งแต่แรกเกิด ลูกสุกรยังสามารถได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งอื่นได้อีก เช่น น้ำนมแม่ อาหาร และดิน แต่อย่างไรก็ตามในน้ำนมแม่ที่เป็นแหล่งอาหารหลักของลูกสุกรในช่วงสัปดาห์แรกนั้น มีปริมาณธาตุเหล็กครอบคลุมพียง 10% ของที่ลูกสุกรต้องการต่อวันเท่านั้น3 แต่หากจะหวังพึ่งให้ลูกสุกรได้รับธาตุเหล็กจากการกินอาหารนั้นก็คงจะไม่ทันการณ์ในช่วงอายุสัปดาห์แรก และในส่วนของการได้รับธาตุเหล็กจากดินนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรปัจจุบัน เว้นเสียแต่มีการเลี้ยงสุกรแบบปล่อยทุ่ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องมีการฉีดธาตุเหล็กเสริมให้กับลูกสุกรภายในช่วงอายุ 3 วันแรก

มาถึงตรงนี้อาจจะไขข้อข้องใจในส่วนของที่มาที่ไปของการฉีดธาตุเหล็กในลูกสุกรไปได้แล้ว ทราบแล้วว่าธาตุเหล็กมีสะสมมาน้อยและหมดได้เร็ว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าลูกสุกรใช้ธาตุเหล็กเหล่านี้ไปทำอะไร มีความสำคัญอย่างไร เราปล่อยให้ลูกสุกรขาดธาตุเหล็กไปไม่ได้หรือ

ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดง ประมาณ 80-90% ของธาตุเหล็กในร่างกายถูกนำไปใช้ในการสร้างฮีโมโกลบิน ตัวฮีโมโกลบินนี้เองที่เป็นตัวลำเลียงอ็อกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แน่นอนว่าถ้ามีปริมาณฮีโมโกลบินมากก็ยิ่งทำให้การขนส่งอ็อกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายมีได้มากขึ้น และนอกจากนี้ธาตุเหล็กยังเป็นส่วนประกอบของไมโอโกลบิน (Myoglobin) ที่ทำหน้าที่ขนส่งอ็อกซิเจนในกล้ามเนื้ออีกด้วย ในช่วงสัปดาห์แรกที่ลูกสุกรมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและปริมาณพลาสม่าเพิ่มขึ้น 30%4 ส่งผลให้ความเข้มข้นของฮีโมโกลบินลดลงเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการใช้ธาตุเหล็กมาใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงและกล้ามเนื้อเป็นจำนวนมาก

หากมีปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายไม่เพียงพอในระยะนี้จะส่งผลให้ลูกสุกรมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ (Iron deficiency anemia) ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในลูกสุกรสามารถพบได้ในลูกสุกรทุกสายพันธุ์ แต่มักจะพบว่ารุนแรงในสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ขนาดครอกใหญ่ และโตไว5 อาการที่แสดงให้เห็นของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก คือ เยื่อเมือกซีด ขาดความอยากอาหาร น้ำหนักลด ผิวหนังและขนหยาบกร้าน1

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในลูกสุกรเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะผลกระทบไม่ได้มีเพียงอาการแสดงที่กล่าวถึงในข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีรายงานที่ชี้ให้เห็นว่าลูกสุกรที่ขาดธาตุเหล็กจะมีการเจริญเติบโตไม่ดีเท่ากับลูกสุกรที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก โดยพบว่าสุกรที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กจะมีน้ำหนักเฉลี่ยที่อายุ 35 วันมากกว่าลูกสุกรที่ขาดธาตุเหล็กถึง 2.8 กิโลกรัม (กราฟที่ 1)

กราฟที่ 1 เปรียบเทียบน้ำหนักในแต่ละช่วงอายุระหว่างสุกรที่ขาดธาตุเหล็กและสุกรที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก6

และยังมีข้อมูลว่าปริมาณฮีโมโกลบินที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 g/dL จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG) เพิ่มขึ้น 17.2 กรัม ในช่วง 3 สัปดาห์หลังหย่านม7 สอดคล้องกับหลายๆงานวิจัยที่พบว่าการที่ลูกสุกรไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กในช่วงสัปดาห์แรกนั้น จะทำให้การเจริญเติบโตของลูกสุกรในเล้าคลอดลดลง น้ำหนักหย่านมลดลง และส่งผลให้การเจริญเติบโตในเล้าอนุบาลแย่ลงด้วย8 พบว่าลูกสุกรที่มีการเจริญเติบโตในเล้าคลอดต่ำ มีน้ำหนักหย่านม <6.5 กิโลกรัม จะส่งผลให้น้ำหนักขายขุนน้อยกว่าลูกสุกรที่มีน้ำหนักหย่านมอยู่ในช่วง 6.5-8.5 กิโลกรัมถึง 8.7 กิโลกรัม9

นอกจากความสำคัญของธาตุเหล็กในแง่ของการเจริญเติบโตแล้ว ธาตุเหล็กยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาและเพิ่มจำนวนของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย พบว่าการขาดธาตุเหล็กนั้นมีส่วนทำให้การทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง10 และมีการศึกษาพบว่าสุกรที่ขาดธาตุเหล็กจะมีจำนวนของนิวโทรฟิล (Neutrophils) และเม็ดเลือดขาวโดยรวม (Leucocytes) น้อยกว่าสุกรที่มีการเสริมธาตุเหล็ก (ตารางที่ 1) ส่งผลให้ลูกสุกรที่ขาดธาตุเหล็กมีความอ่อนแอ ไวต่อการติดเชื้อและป่วยได้มากกว่าลูกสุกรปกติ

ตารางที่ 1 แสดงค่าเลือดและปริมาณเม็ดเลือดชนิดต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างสุกรที่ขาดธาตุเหล็กและสุกรที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก11

จากข้อมูลทั้งหมดในบทความนี้ จะเห็นได้ว่าการเสริมธาตุเหล็กให้กับลูกสุกรที่เป็นการจัดการขั้นพื้นฐานของฟาร์มนั้น กลายเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะผลกระทบที่ตามมาคงไม่ใช่เพียงแค่อาการซีดที่เราเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมากมายที่เราอาจจะเคยคาดไม่ถึง จนถึงตอนนี้เราคงต้องหันกลับไปมองแล้วว่าลูกสุกรในฟาร์มของเรานั้นได้รับธาตุเหล็กเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ธาตุเหล็กที่เราเสริมให้นั้นลูกสุกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากเพียงใด การเสริมธาตุเหล็กจะไม่ได้เป็นเพียงการจัดการขั้นพื้นฐานที่ทำเพื่อให้ครบตามโปรแกรมอีกต่อไป แต่เราต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับลูกสุกรตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิต

อ้างอิง

1.Venn JA, McCance RA, Widdowson EM 1947. Iron metabolism in piglet anemia. J Comp Pathol Therap. 57: 314-325.

2. NRC 2012. Nutrient Requirements of Swine. 11th revised edition: 84.

3. Katharine H, Jessica R, Lisa B, Werner H, Ralf B 2019. One Iron Injection Is Not Enough—Iron Status and Growth of Suckling Piglets on an Organic Farm. Animals. 651: 1-12.

4. Miller ER, Ullrey DE 1977. Baby pig anemia. Cooperative Extension Service, College of Agriculture. Michigan State University. Available at: https://old.pork.org/filelibrary/factsheets/pigfactsheets/newfactsheets/04-01-07g.pdf. Accessed 20 April 2021.

5. Svoboda M, Drabek J 2005. Iron deficiency in sucking piglets: etiology, clinical aspects and diagnosis. Folia Vet. 49: 104-111.

6. Svoboda M, Bouda J, Drabek J, Doubek J 2004. Effect of Per Os Iron Lactate Supplement on Development of Haematological Profile of Piglets in the Early Postnatal Period. Acta Vet. 73: 431–436.

7. Sheeva B, Jens PN 2015. Association between hematological status at weaning and weight gain post-weaning in piglets. Liv Sci. 182: 64-68.

8. Peters JC, Mahan DC 2008. Effects of neonatal Fe status, Fe injections at birth, and weaning in young pigs from sows fed either organic or inorganic trace minerals. J of Anim Sci. 86: 2261-2269.

9. Cherie LC, John RP, Rebecca SM, Trevor NM, Robert JS, David JH, Ingunn S, Frank RD 2017. Post-weaning and whole-of-life performance of pigs is determined by live weight at weaning and the complexity of the diet fed after weaning. Animal Nutrition. 3: 372-379.

10. Beard JL 2011. Iron biology in immune function, muscle metabolism and neuronal functioning. J Nutr. 131: 568S-580S.

11. Svoboda M, Drabek J, Krejci J, Rehakova Z, Faldyna M 2014. Impairment of the Peripheral Lymphoid Compartment in Iron-deficient Piglets. J Vet Med. 51: 231–237.

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com