ธุรกิจอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟ คว้ามาตรฐาน ISO 56002 ยกระดับระบบจัดการนวัตกรรมสู่ระดับโลก
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับมอบใบรับรอง ระบบมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม ISO 56002 แบบ Multi-site แห่งแรกในประเทศไทย จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (Management System Certification Institute – MASCI) สะท้อนความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน โดยมีนายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก รับมอบใบประกาศเกียรติบัตรจาก ดร.ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายรับรองระบบ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายหน่วยตรวจ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้นำระบบมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม ISO 56002 พัฒนาและส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โรงงานอาหารสัตว์บกบางนา กม.21 ของซีพีเอฟ เป็นหน่วยงานแห่งแรกของบริษัทเมื่อปี 2563 และในปีนี้ โรงงานอาหารสัตว์บก อีก 12 แห่ง ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดกรนวัตกรรม ISO 56002 แบบ Multi-site เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
“ความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากการวางระบบมาตรฐานที่ดี สามารถนำองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาต่อยอด ช่วยให้ธุรกิจ คู่ค้า และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศไทยเติบโต จนธุรกิจอาหารสัตว์ของซีพีเอฟเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายเรวัติ กล่าว
การสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นหนึ่งในค่านิยมของ CPF Way ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ จึงมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมคิดค้นและพัฒนาโครงการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพ และความปลอดภัย สร้างขีดความสามารถและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดงาน Feed Innovation Week เป็นเวทีให้พนักงานนำเสนอผลงาน แบ่งปันความรู้ ส่งเสริมการคิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมนำไปใช้ในการดำเนินงาน เช่น โครงการ Artificial Intelligence (AI) Prediction End Products Price Forecast ที่ใช้ระบบ AI พยากรณ์ความต้องการอาหารสัตว์ ช่วยให้บริษัทวางแผนและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่คู่ค้าและเกษตรกร ผ่านงาน CPF The NeXt Tech Show รวบรวมนวัตกรรม AI IoT ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ พัฒนาอาชีพ และเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ดร.ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ กล่าวชื่นชมซีพีเอฟในด้านการพัฒนาบุคลากร ที่สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้วผู้บริโภค การได้รับรองมาตรฐานแบบ Multi-site แสดงให้เห็นศักยภาพ และขีดความสามารถของทั้ง 12 โรงงานในการจัดการกับนวัตกรรมให้มีความสม่ำเสมอ มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้การมีนวัตกรรมที่ดีประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วนงาน จะช่วยผลักดันให้ซีพีเอฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ขอบคุณที่มา: Charoen Pokphand Foods