ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News) สัตว์ปีก (Poultry)

บังจู เข็น “สองสหายฟาร์ม” ด้วยคุณภาพ ราคา และบริการ

ความเบื่อหน่ายของชีวิตมนุษย์เงินเดือนก่อนหน้านี้ คือ บทเรียนอันล้ำค่าของคุณสุธาศิน อมฤก หรือคนในวงการค้าไข่จะรู้จักกันในนาม “บังจู” ผู้ที่หันหลังให้กับการใช้ชีวิตอยู่ใต้อาณัติผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัทที่เคยทุ่มเทการทำงานร่วม 23 ปี เพื่อค้นหาสิ่งที่ท้าทายและตัวตนที่แท้จริงบนเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน

คุณสุธาศิน อมฤก (บังจู) เจ้าของหจก.สองสหายฟาร์ม

บังจู เจ้าของหจก.สองสหายฟาร์ม ซึ่งเป็นธุรกิจค้าไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เยี่ยวม้า ไข่เค็มสุก ไข่เค็มดิบ และไส้ไข่แดงเค็ม ตั้งอยู่เลขที่ 109 ถนนราษฎร์อุทิศ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงและหยาดเหงื่อแห่งความภาคภูมิใจ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จึงต้องดิ้นรนทำงาน และส่งตัวเองเรียนจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการบัญชี และได้ทำงานทั้งบริษัทเล็ก-ใหญ่ในเวลาถัดมา ขณะเดียวกันเขากลับมองว่าตำแหน่งหน้าที่การงานมักมีเพดานและข้อจำกัด หากเหนือกว่าตำแหน่งผู้จัดการนั่นก็คือ “เจ้าของกิจการ” แต่การที่จะเป็นเจ้าของกิจการได้นั้นจะต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ฉะนั้นจึงทำให้เขาตัดสินใจลาออก โดยที่ไม่มีงานหรือธุรกิจรองรับ มีเพียงแค่ความหวังที่ว่า “อยากเป็นเจ้าของกิจการ”

ด้วยเหตุที่ต้องการหาสิ่งใหม่และความท้าทาย จึงชักชวนพี่สาวเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง เนื่องจากคิดว่ากำลังบูมและตนเองพอมีฝีมือในการทำอาหารอยู่บ้าง แต่สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงต่างกัน เปิดได้ประมาณ 6 เดือนก็ต้องล้มเลิกกิจการไป เพราะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นและผู้บริโภคน้อยลง ทั้งนี้ในความมืดมนยังพอมีแสงสว่างอยู่บ้าง

“ระหว่างที่ขายอาหารตามสั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมคอร์สอบรมระยะสั้นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในโครงการ เสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (NEC) ที่ศูนย์นิด้า เกี่ยวกับการทำบัญชี การคำนวณต้นทุน ช่องทางและกลยุทธ์การทำตลาด ระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างอาจารย์ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้ที่ให้ข้อคิด สินค้าเหมือนกัน แต่… ไม่เหมือนกัน ซึ่งตีความหมายภายหลังว่าการขายสินค้าที่เหมือนกัน แต่วิธีการและจุดขายแต่ละกิจการแตกต่างกัน”

ล้มเพื่อลุกขึ้น

เวลาของนาฬิกาเดินไปอย่างไม่คอยท่า สร้างปัญหาใหม่ให้กับเขาคือเงินเก็บที่มีเริ่มร่อยหรอ จากครั้งที่ทำร้านอาหารตามสั่งและธุรกิจอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ประกอบกับยังไม่ได้ทำงาน กระทั่งพี่เขยได้ชวนเปิดร้านขาย “ไข่ไก่” คู่กับ “ข้าวสาร” แต่เขายังไม่ได้ตัดสินใจทันทีทันใดกลับขอเวลาคิดหนึ่งสัปดาห์

“หากขายไข่กับข้าวสารในลักษณะขายปลีก เฉพาะหน้าร้านคิดว่าเจ้งแน่นอน เพราะใครจะมาแวะซื้อ ถ้าหากจะขายต้องเลือกสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นใช้เวลาร่วม 6 เดือน สุดท้ายจึงตัดสินใจขายไข่โดยกู้เงินมาลงทุนเช่าพื้นที่และตกแต่งร้าน แต่แล้วพี่เขยก็แยกออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากขายแล้ว ดังนั้นจึงทำเพียงคนเดียวโดยเปิดร้านขายไข่ในวันที่ 8 ตุลาคม 2553 รับไข่เบอร์มาขาย 6 เดือนแรกขาดทุนสะสมกว่า 120,000 บาท ซึ่งหมดไปกับค่าเช่าร้าน ค่าน้ำมัน ค่าจ้างคนงาน จากเงินลงทุน 200,000 บาท เหลือไม่ถึง 80,000 บาท”

ไข่สดจากฟาร์มมาตรฐาน

ณ ตอนนั้นหมดเงินลงทุนไปเยอะพอสมควร จึงมีความคิดหนึ่งที่วนเวียนในสมองว่าสิ่งที่ทำจะถอยหรือเดินหน้าต่อดี จึงโทรศัพท์หา “คุณอาคม ช่วยราย” เพื่อนสนิท เพื่อชวนมาทำธุรกิจด้วยกัน ซึ่งเป็นเวลาประจวบเหมาะมากที่เพื่อนกำลังเบื่องานประจำ แต่เส้นทางการทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงและอาจไม่สวยงามเสมอไป ทุนที่มีก็เริ่มหมดไปเรื่อยๆ จึงบอกกับเพื่อนไปเช่นนั้นและพร้อมจะทำหรือไม่ เพื่อนก็ตอบตกลงที่จะทำโดยนำเงินมาร่วมลงทุนเพิ่มรวมกว่า 150,000 บาท และสรุปกันว่า “สู้ต่อ”

เขานั่งวางแผนกันใหม่ 2 คน ซึ่งตอนนั้นยังมีลูกค้าประจำอยู่ส่วนหนึ่ง โดยมียอดขายสัปดาห์ละ 600 แผง ใช้เวลาในการคิดอยู่หนึ่งสัปดาห์ สุดท้ายตัดสินใจซื้อเครื่องคัดไข่เข้ามา แล้วย้ายร้านใหม่ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน คือ ทำงานที่ร้าน 1 คน (เฝ้าร้าน) และวิ่งส่งของ 1 คน

จากการตัดสินใจครั้งนั้น พอเข้าสู่เดือนที่ 7 ผลปรากฏว่าธุรกิจเริ่มมีกำไรที่ 365 บาท ซึ่งเป็นกำไรครั้งแรกในการทำธุรกิจ เขารู้สึกดีใจมาก เพราะนั่นคือประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็สามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่าจากนี้ไปต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอด ปัจจุบันร้านได้เปิดดำเนินธุรกิจมาเกือบ 8 ปีแล้ว

คุณสุธาศิน อมฤก (บังจู) กับ คุณปนัดดา เตจ๊ะมาเรือน (รถเมล์) ผู้สื่อข่าวปศุศาสตร์ นิวส์ ขณะนั่งสัมภาษณ์

“ต้องขอขอบคุณตัวเองในการตัดสินใจสู้ในวันนั้น จนสามารถมีวันนี้ได้” บังจูย้อนเวลาแห่งความประทับใจให้ฟังและเผยอีกว่า

“ตอนเริ่มรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะกลางคืนต้องคัดไข่เอง เพื่อให้เสร็จทันส่งลูกค้าในตอนเช้า เนื่องจากเงินทุนมีไม่มากและไม่มีการสต๊อก เพราะฉะนั้นไข่ที่รับมาจึงต้องขายออกให้หมด ไม่ว่าฝนจะตกหรือฟ้าร้อง เปิดท้ายขายบ้าง วิ่งเข้าหมู่บ้านบ้าง ซึ่งเมื่อนึกย้อนไปเป็นอะไรที่ค่อนข้างปวดร้าวมาก จากคนที่เคยทำงานบริษัทมีตำแหน่งหน้าที่ดี เงินเดือนหลายหมื่นบาท วันหนึ่งต้องมายืนขายไข่กลางสายฝนอยู่ริมถนน มีแต่คนดูถูก แม้กระทั่งเพื่อนหรือคนใกล้ชิด เพราะเขาบอกว่าทำงานดีอยู่แล้วทำไมต้องออกมาทำให้ตัวเองลำบาก จนต้องขายบ้าน ขายรถ เพื่อเอาเงินมาลงทุน แต่ก็บอกกับตัวเองเสมอว่าไม่คิดอะไร เราต้องเดินหน้าอย่างเดียว ไม่สนใจว่าใครจะพูดอย่างไร”

เข้าใจ “สินค้าเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน” มากขึ้น

การหาจุดเด่นของตัวเอง โดยการตั้งคำถามขึ้นมาว่าถ้าหากเราเป็นลูกค้า อยากซื้อของอะไรสักอย่าง สิ่งที่ต้องการคืออะไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องการสินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่รับได้ ไม่แพงเกินไป ดังนั้นสินค้าที่ขายจึงต้องเน้น “คุณภาพ ราคา และบริการ” 3 ข้อนี้ต้องเดินไปพร้อมกัน ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นสินค้าที่ขายจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี และฟาร์ม (ผู้ผลิต) ที่ไปรับผลผลิตมาจำหน่ายนั้นจะต้องเป็นฟาร์มที่มีมาตรฐานเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์มัดใจและการหาลูกค้า บังจูจะใช้วิธีการแนะนำตัวและทิ้งนามบัตรไว้ จะไม่ไปแย่งลูกค้าหรือลดราคาแข่งกับเจ้าอื่นๆ “ผ่านหน้าร้านก็แวะเข้าไปทักทาย เพื่อให้เขาจำ และโอกาสในวันข้างหน้า แต่เราต้องรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้า ความนิ่งของราคา เพราะราคาขายจะอ้างอิงราคาของสมาคมฯ เป็นหลัก”

อยากให้ทุกคนบริโภคไข่ทุกวัน เพราะ “ไข่” มีประโยชน์

ส่วนการสร้างความแตกต่าง หรือการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า คือ การที่สามารถหาสินค้ามาป้อนให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า แม้กระทั่งในช่วงเทศกาลที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือช่วงที่สินค้าขาดตลาด

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา บังจูมองว่า ธุรกิจประสบความสำเร็จพอสมควร เมื่อเทียบกับวันแรกที่ไม่มีอะไรเลย ต้องเรียนรู้เรื่องไข่และหาลูกค้าใหม่ทั้งหมด ทุกอย่างเป็นศูนย์  ณ วันนี้โชคดี และภาคภูมิใจมาก สิ่งที่เสียหรือผิดพลาดไปก่อนหน้านี้จะเอามาเป็นบทเรียน ปัจจุบันสามารถหากลับคืนมาได้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือรถยนต์

เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่ากิจการของแต่ละกิจการหรือแม้แต่คนทำธุรกิจที่เหมือนเราหรือคล้ายกับเรา เรื่องสภาพคล่องภายในเขาเป็นอย่างไรบ้าง เงินกู้เขามีเท่าไหร่ สายป่านยาวแค่ไหน ตัวเรามีพาวเวอร์แค่ไหน เราไม่สามารถที่จะทำเหมือนเขาได้เสมอไป เพราะฉะนั้นค่อยๆ ทำ โตบนพื้นฐานแห่งความมั่นคง โตช้าดีกว่าโตเร็วแล้วล้ม ย้ำว่าโตช้าดีกว่าโตเร็วแล้วล้ม เพราะหลายธุรกิจล้มจากการคิดที่จะก้าวกระโดด” บังจูให้แง่คิด

ขอขอบคุณ / คุณสุธาศิน อมฤก (บังจู) เจ้าของ หจก.สองสหายฟาร์ม 109 ถนนราษฎร์อุทิศ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ

โทร. 081-917-3889 , 094-264-9155

SUPPORTED BY : คลิกเลยยย!!!

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com