เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ฟังกูรูกลุ่มหนึ่งพูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ หลายเรื่อง รวมถึงการดำเนินคดีหมูเถื่อน มีอยู่ 2-3 ประเด็น ที่น่าสนใจคือ 1.จุดจบของหมูเถื่อนจะเปิดหน้าของผู้ร้ายตัวจริงได้หรือไม่ จะเป็นนักการเมืองหรือนายทุนกลุ่มใด? 2.สาเหตุที่คดีล่าช้านานกว่าสองปี เพราะอะไร? และ 3. หมูเถื่อนทำเป็นขบวนการ ส่วนหนึ่งใช้ “บัญชีม้า” บริษัทที่ธุรกิจไม่เคลื่อนไหว หรือบริษัทร้าง ในการออกเอกสารนำเข้าปลอม ให้หมูเถื่อนผ่านพิธีการศุลกากรได้โดยไม่ต้องตรวจสอบ เข้ามาทุ่มตลาดจนหมูไทยราคาตกต่ำ ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้
หากแบ่งคดีหมูเถื่อนออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงต้น การจับกุมตู้คอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อน ระหว่างขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังห้องเย็นเป้าหมายในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการจับกุมการลักลอบนำเข้าผ่านชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย หลังจากเส้นทางในประเทศไทยมีการตรวจตราเข้มงวดและจับกุมต่อเนื่อง ผู้ต้องหาในส่วนนี้ถูกศาลพิพากษาลงโทษทั้งจำคุกและปรับเป็นเงินหลายล้านบาท
ช่วงกลาง หลังจับกุมหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 การสอบสวนนำไปสู่การเปิดเผยชื่อย่อนักการเมืองในจังหวัดใด (นครปฐม สุพรรณบุรี และราชบุรี) ข้าราชการระดับสูง เจ้าหน้าที่ประจำด่านที่ท่าเรือแหลมฉบัง (กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์) นับเป็นจุดเปลี่ยนของหมูเถื่อน โดยคดีถูกโอนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และจากการสืบสวน-สอบสวน พบว่าคดีนี้มีบริษัทนำเข้าและบริษัทชิปปิ้ง ทั้งที่ดำเนินธุรกิจจริงและบัญชีม้าประมาณ 30 บริษัท ทำเอกสารนำเข้าปลอมให้หมูเถื่อนเข้ามาในประเทศ อีกทั้งคดีหมูเถื่อน161 ตู้ ยังถูกขยายผลไปสู่คดีหมูเถื่อน 2,385 ตู้ ที่สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลแช่แข็งและโพลิเมอร์ จนหมูเถื่อนออกมากระจายสู่ตลาดทั่วประเทศดั๊มพ์ราคาจนหมูไทยราคาตกต่ำทุกภูมิภาค
ปัจจุบัน ขั้นตอนการดำเนินคดีในมือของ DSI สอบสวนจนได้หลักฐานหลายด้าน ทั้งเอกสารนำเข้าปลอม เอกสารสำแดงเท็จ เส้นทางการเงิน และผู้ต้องหาบุคคล เพื่อเอาผิดตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการดำเนินคดี พร้อมส่งสำนวนให้อัยการและเข้าสู่การพิพากษาของศาลให้คดีสิ้นสุด แต่ล่าสุด DSI ส่ง 8 คดี จาก 10 คดี ไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งจะทำให้การพิจารณาล่าช้าออกไป แทนที่คนผิดจะถูกลงโทษ และนำไปสู่การสืบสวนเพื่อหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังต่อไป รวมถึงการดำเนินคดีที่มี 2 มาตรฐาน จากการพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ที่ต้องเสียเวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ในการพิสูจน์หลักฐาน ที่สำคัญ คดีที่ศาลตัดสินไปก่อนหน้านี้ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของคดีนอกราชอาณาจักร ก็สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ จึงเป็นคำถามที่รอการอธิบาย
ที่ผ่านมา มีคดีตัวอย่างที่ศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษห้องเย็นรายหนึ่ง และล่าสุดศาลจังหวัดนาทวี (สงขลา) พิพากษาทั้งผู้ต้องหาบุคคลและบริษัท ซึ่งเป็นการดำเนินคดีโดยตำรวจและ “ปิดจ๊อบ” ส่งผู้ต้องหาเข้าคุกและปรับหนักรายละประมาณ 8 ล้านบาท แม้จะใช้เวลานานเกือบ 1 ปี แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีของฝ่ายตำรวจ ตั้งแต่สืบสวน สอบสวน ทำสำนวนและส่งฟ้อง ตามหลักฐานและขั้นตอนของกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ น่าจะเป็นแนวทางให้คดีหมูเถื่อนที่ยังค้างคาเดินหน้าได้ในทิศทางเดียวกัน เหตุใดจึงไม่ใช้หลักฐานที่มีและดำเนินคดีแบบเดียวกัน
ปุจฉา… เหตุใดคดีหมูเถื่อนที่ยังคาราคาซังไม่ไปสู่การพิจารณาคดีของศาล และเหตุใดต้องพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรจากความล่าช้าของการพิจารณาคดี หรือ วิธีการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร และที่สุดผู้อยู่เบื้องหลัง หรือ “นายใหญ่” ในคดีนี้จะถูกเปิดเผยโฉมหน้าและได้รับการลงโทษตามกฎหมายอย่างไร.
โดย เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ