ประเทศไทยกับ โรคระบาดสัตว์ ที่อาจพบได้บ่อย
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวน ฝนตกหนัก อุณหภูมิลดลง รวมถึงเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ต่างๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์ปีก เกิดความเครียด และมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน สัตว์มักจะเจ็บป่วยจากการโดนลม โดนฝน หรือยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะสัตว์ที่เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สัตว์ที่ไม่แข็งแรงจะไม่มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคระบาดต่างๆ แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นได้อีกด้วย
โรคระบาดสัตว์ที่อาจพบได้
โรคปากเท้าเปื่อย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
อาการติดต่อ
⁃ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
⁃ การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าไป
⁃ การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นโรค
⁃ ติดต่อผ่านทางยานพาหนะ คน เสื้อผ้า อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ด้วย
อาการ
⁃ น้ำลายไหลฟูมปาก
⁃ เกิดเม็ดตุ่มที่เยื่อเมือกต่างๆ เช่นบริเวณ ปาก จมูก กีบเท้า
⁃ สัตว์เกิดความเจ็บปวด กินอาหารไม่ได้ เดินกระเผก กีบหลุด ซูบผอม โตช้า แท้งลูก ผสมไม่ติด
การรักษา ใส่ยารักษาแผลที่ปากและเท้า ร่วมกับการฉีดยาปฏิชีวนะ จะทำให้สัตว์หายป่วยเร็วขึ้น
การป้องกันโรค ทำได้โดยการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยใน โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ทุกๆ 6 เดือน
โรคเฮโมรายิกเซฟติดซีเมีย หรือโรคคอบวม สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อชนิดนี้สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้ โดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียดสัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนอาหารและน้ำ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ หรือในน้ำได้นานหลายชั่วโมงถึงหลายวัน
การติดต่อ
⁃ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ
⁃ หากสัตว์เกิดความเครียดเช่น ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ขาดสารอาหาร การจัดการเลี้ยงที่ไม่ดีหรือการเคลื่อนย้ายสัตว์ การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นได้ง่าย
อาการ
⁃ สัตว์จะหายใจหอบลึก มีเสียงดัง ยืดคอไปข้างหน้า
⁃ คอหรือ หน้าบวมแข็ง
⁃ อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง
⁃ สัตว์อาจตายทันทีก่อนแสดงอาการให้เห็น
⁃ ถ้าป่วยเรื้อรังจะแสดงอาการนาน
อาการแบบเฉียบพลันได้แก่มีไข้สูงน้ำลายไหลฟูมปาก หยุดกินอาหาร ซึม หายใจถี่ ระยะแรกท้องผูก ต่อมาท้องร่วงอาจมีเลือดปนออกมากับอุจจาระภายใน 2-3 วัน
อาการแบบเรื้อรังสัตว์ป่วยจะมีชีวิตได้นานประมาณ 3-4 เดือน สุขภาพทรุดโทรม มีโรคแทรกซ้อน
การป้องกันโรค ทำได้โดยการฉีดวัคซีนให้สัตว์ที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง และดูแลด้านการจัดการ
โรคเลปโตไปโรซีส หรือไข้ฉี่หนู เป็นโรคที่พบได้ในทั้งคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด มักพบการระบาดของโรคมากในช่วงหลังการเกิดน้ำท่วม สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
การติดต่อ
⁃ การสัมผัสปัสสาวะ เลือด ซากสัตว์ป่วย ลูกสัตว์ที่แท้ง หรือตายแรกคลอด
⁃ สัมผัสเชื้อในสิ่งแวดล้อม เช่น ในแอ่งน้ำที่ชื้นแฉะ หรือในทุ่งนา
⁃ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการใช้เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกต่างๆ เช่น ปาก ตา จมูก หรือทางผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่น้ำนาน
⁃ สามารถติดต่อจากการกินอาหารหรือนมที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการหายใจเอาละอองที่มีเชื้อปะปนอยู่
อาการแบ่งเป็น
อาการแบบเฉียบพลัน มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อตาอักเสบ อาเจียน ท้องเสียมีเลือดออก ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตับโต ไตวาย เต้านมอักเสบ และมีอาการทางเดินระบบประสาท
อาการแบบเรื้อรัง เชื้อจะไปอยู่ที่ไต ทำให้ไตอักเสบ และขับเชื้อออกมาทางปัสสาวะ
การป้องกันโรคลดการแพร่โรคโดยการควบคุมหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง ปรับปรุงการสุขาภิบาลในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และที่อยู่อาศัย เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม
โรคพีอาร์อาร์เอส หรือโรคเพิร์ส สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
การติดต่อ
⁃ โดยการกินหรือสัมผัสสุกรป่วยโดยตรง
⁃ ทางพันธุกรรม
⁃ ที่สำคัญคือเชื้อจะปนเปื้อนกับรถขุนสุกรหรือซากสุกรได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้จะถูกขับทั้งน้ำมูก อุจจาระและนำเชื้อของสุกรที่ติดเชื้อ
อาการ
⁃ ลูกสุกรหย่านมแสดงอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
⁃ แม่สุกรแสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์เช่นแท้งลูก และตายแรกคลอด เป็นต้น
⁃ สุกรจะแสดงอาการป่วย มีไข้ นอนสุมกัน ตัวแดง ไม่กินอาหาร
การป้องกัน การจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดี และไม่ใช้วัคซีนป้องกันโรคจากแหล่งผลิตที่ไม่มีการรับรองมาตรฐาน อย. เนื่องจากอาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่และก่อให้เกิดโรคระบาดภายหลังฉีดวัคซีนซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกรอย่างรุนแรง
โรคนิวคาสเซิล สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส
การติดต่อ
⁃ โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่เป็นโรค
⁃ การกินหรือหายใจเอาเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โลกนี้เกิดได้ในไก่ทุกอายุ อาการขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เชื้อ
⁃ ชนิดรุนแรงจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมากทันที
⁃ หายใจลำบากมีเสียงดัง ไอ จาม
⁃ ซึม เบื่ออาหาร ตัวสกปรก ทวารหนักเปื้อนอุจจาระ
⁃ กล้ามเนื้อสั่น หัวสั่น คอบิด ปีกตกอัมพาตก่อนตาย เดินโซเซล้มลง
⁃ ไก่ที่แสดงอาการทางประสาทแล้วจะไม่รอด
การป้องกัน สามารถทำได้โดยการทำวัคซีน
คำแนะนำ เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
⁃ ดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝนลมละอองฝนได้เป็นอย่างดี
⁃ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง
⁃ พ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง เข้าและออกจากบริเวณฟาร์มและเข้มงวดเรื่องคนงานในเล้าคลอด ห้ามปะปนกับส่วนอื่น
⁃ เข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน
⁃ เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งเชื่อถือได้
⁃ ควรกักสัตว์ก่อนนำเข้าฝูง
⁃ หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนหรือใกล้เคียง
หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ทันที เพื่อตรวจสอบโดยเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด
ขอบคุณ : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์