อาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมานาน และเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างดี เนื่องจากปัจจุบันคาเฟ่ ร้านกาแฟ (Cafe Coffee) ร้านเบเกอรี่ (Bakery) ต่างๆ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคสายชิลทุกเพศทุกวัย ซึ่งร้านดังกล่าวล้วนใช้ “นม” เป็นวัตถุดิบหลักในเครื่องดื่มเมนูต่างๆ จึงทำให้นมโคเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
ทว่านมโคในบ้านเรามีกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพอย่างไร “ประเทือง ฟาร์ม” 47/1 หมู่ 1 ต.ลำสมพุง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี บริหารโดยคุณเพชรพนา อั่งสกุล (คุณเพชร) ทายาทรุ่นสองที่ดูแลฟาร์มต่อจากพ่อแม่จะมาแชร์ประสบการณ์ให้ทราบ

ประเทือง ฟาร์มยึดอาชีพเลี้ยงโคนมมานานกว่า 20 ปี ก่อตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่คุณเพชรเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี จากรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งตอนนั้นยังไม่คิดกลับมาช่วยที่ฟาร์มจึงเรียนต่อปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อเรียนจบออกมาก็มีความคิดเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อยากทำงานออฟฟิศ จึงทำงานให้กับบริษัทหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในตำแหน่งจัดซื้อ
กระทั่งเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ขึ้นในฟาร์มเมื่อปีพ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟาร์มประสบปัญหาดังกล่าว ทำให้โคล้มป่วยและส่งผลต่อการให้น้ำนมเป็นอย่างมาก ตอนนั้นที่บ้านรู้สึกท้อมาก คิดว่าหากปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไขสุดท้ายต้องขายฟาร์มทิ้งแน่นอน จึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาช่วยคุณแม่ทำฟาร์ม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “เกษตรกรโคนม” ตั้งแต่นั้นมา
สู่ความท้าทายใหม่
คุณเพชรพนา เริ่มวางระบบการเลี้ยง ปรับปรุงโรงเรือน และสิ่งแวดล้อมภายในฟาร์มใหม่ มีการคัดแยกและจัดกลุ่มโคนมเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และปรับปรุงคุณภาพอาหาร เมื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงให้โคนมอยู่สบายขึ้นและกินอาหารที่มีคุณภาพดี โคสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ เฉลี่ย 1 -1.5 ตัน/วัน จนกระทั่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 ของการเลี้ยงโค สูงสุดอยู่ที่ 2.3 ตัน/วัน
“อาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มองว่ามีรายได้ทุกวัน สามารถรีดนมทุกวัน มีผลผลิตขายทุกวัน เราจึงมองว่าเลี้ยงโคนมนี่แหละเหมาะที่สุด แต่การเลี้ยงโคนมจะไม่มีวันหยุดแลกกับการมีรายได้ให้เราทุกวัน และที่สำคัญก็มีจุดรับซื้อนมอยู่แล้ว ซึ่งการันตีว่าเรามีที่ขายแน่นอนโดยไม่ต้องไปหาตลาดเอง”
ความท้าทายใหม่ในการเป็นเกษตรกรเต็มตัวคือ งานที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งคุณเพชรพนาต้องการความง่ายในการทำงาน จึงนำระบบเข้ามาใช้ แต่รูปแบบการเลี้ยงก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เกษตรกรท่านอื่นสามารถทำตามได้ เพราะเป็นความต้องการของคุณเพชรพนาที่อยากให้เป็นฟาร์มตัวอย่างทั้งรูปแบบและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือใช้ทุนสูง เพียงแค่เข้าใจตัวโค กินอาหารที่มีคุณภาพ และจัดแบ่งโซนที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนเท่านั้น
ถึงตรงจุดนี้เริ่มรู้สึกว่าคุณเพชรพนาเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากจึงถามว่าชอบอาชีพเลี้ยงโคนมหรือไม่ คุณเพชรพนาตอบกับเราอย่างภาคภูมิใจว่า มันฝังอยู่ในสายเลือดแล้ว เพราะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมันเป็นความรับผิดชอบและเป็นสิ่งที่พ่อแม่ถ่ายทอดมาให้ อาชีพเกษตรกรไม่ว่าจะทำไร่หรือเลี้ยงโค หากมีพื้นที่หรือแปลงหญ้า ถือว่ามีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่นที่เขาอยากทำเกษตรแต่ไม่มีโอกาส แต่การทำอาชีพเกษตรก็ต้องอาศัยความอดทนพอสมควร
เมื่อมองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นมองว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจที่เห็นได้ชัดเจนคืออัตราการให้นมของโคที่เพิ่มขึ้น สุขภาพของโค คุณภาพน้ำนม ที่ได้กลับมาเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้และเห็นผลชัดเจน ซึ่งทุกอย่างที่ทำมาตั้งแต่ต้นเห็นผลดีทุกด้าน จึงอยากแบ่งปันในสิ่งดีๆให้เกษตรกรท่านอื่นได้ทราบ
อีกอย่างธุรกิจฟาร์มโคนมในปัจจุบันถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง เพราะหากสามารถผลิตน้ำนมได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาดรับซื้อ เนื่องจากมีสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ลำพญากลาง จำกัด และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รองรับผลผลิต
ไม่หยุดที่จะพัฒนา
ประเทือง ฟาร์มพร้อมที่จะปรับปรุงข้อบกพร่องหรือจุดด้อยแล้วพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยต้องมองศักยภาพของฟาร์มควบคู่กับการพัฒนาไปด้วย จุดไหนที่สามารถทำและแก้ไขได้ก็ทำก่อน จากนั้นค่อยๆ อุดช่องโหว่ไปทีละจุด ซึ่งจุดแรกที่อยากจะพัฒนาต่อจากนี้คือเรื่องอาหาร เพราะการเลี้ยงโคนม นมที่ได้ราคาค่อนข้างนิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็ต้องเพิ่มผลผลิตและทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงนั่นเอง
“ช่วงแรกครอบครัวก็ยังเป็นห่วง เพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากอยู่ในสังคมเมืองมาตั้งแต่เด็ก ที่สำคัญเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งก็เกิดคำถามว่าจะสามารถทำได้ไหม แล้วสิ่งที่คิดมันถูกทางหรือไม่ ซึ่งหลายคนก็เป็นห่วงกลัวว่าจะไปไม่รอด แต่ตัวเรารู้อยู่แล้วว่าจะเริ่มแก้ตรงจุดไหนก่อน ก็เอาชนะใจทุกคนด้วยการทำให้เห็น ใช้ระยะเวลา 1 ปี เริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทางฟาร์ม จึงทำให้ทุกคนเริ่มยอมรับ”
ตั้งเป้าปรับปรุงคุณภาพนม
โรงเรือนหรือที่อยู่อาศัยถือเป็นปัจจัยสำคัญของการทำฟาร์มโคนม ถ้าหากโคนมอยู่สบายก็จะกินอาหารได้มากขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงโรงเรือนพร้อมกับปรับปรุงคุณภาพอาหารจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะต้องทำด้วยกัน และเอื้อต่อกันจึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยอาหารโคนมที่ทางฟาร์มเลือกใช้เป็นอาหารผสมเองและอาหารสำเร็จรูป เสริมด้วย ‘ไบโอติก แมกซ์ 1’ (Biotic Max 1) ของบริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด เพื่อช่วยในเรื่องของการเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เมื่อโคได้รับเข้าไปจะช่วยปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหารให้กับแม่โค เสริมสร้างการเจริญเติบโต และกระตุ้นการกินอาหาร จึงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมของโครีดนม/ตัว/วัน ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
“ตนเรียนทางด้านนี้มาอยู่แล้ว จึงทราบดีว่าการใช้สารเสริมควบคู่กับการใช้อาหารหลัก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์ได้จริง และส่งผลดีต่อการให้น้ำนมด้วย ส่วนการเลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้เลี้ยงหรือเจ้าของฟาร์มเป็นหลักด้วย โคทุกตัวไม่ได้ให้ผลผลิตที่เหมือนกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นการใส่ใจโคแต่ละตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
เมื่อนั่งฟังคุณเพชรพนาเล่ายิ่งรู้สึกดี ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าการทำฟาร์มโคนม และยังฝากแง่คิดทิ้งท้ายด้วยว่า “การทำฟาร์มโคนม หากเจ้าของฟาร์มดูแลดี ผลตอบแทนก็จะดีตามไปด้วย ส่วนการทำนมให้มีคุณภาพ อันดับแรกคือสุขภาพแม่โคต้องมาก่อน ถ้าโคสุขภาพดี อัตราการให้นมก็จะดี 2.สายพันธุ์ 3.อาหารที่มีคุณภาพ ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะต้องสอดคล้องกันจึงจะทำให้นมที่ได้มีคุณภาพ”
ขอขอบคุณ
ประเทือง ฟาร์ม
คุณเพชรพนา อั่งสกุล เลขที่ 47/1 หมู่ 1 ต.ลำสมพุง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 30130
บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด
386 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10250 ประเทศไทย
โทร. : 0-2185-6598-99 แฟกซ์ : 0-2059-9820
Email : contact@siamagrisupply.com
Website : www.siamagrisupply.com
Line @ : siamagrisupply
FB : siamagrisupply.SAS