เรื่องหมูกำลังร้อนแรงอยู่ตอนนี้ น่าเห็นใจเกษตรกรอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อหันมาดูที่การทำเกษตรโดยเฉพาะใน ‘ภาคปศุสัตว์’ อย่างการเลี้ยงหมู ถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการประกอบอาชีพ ทั้งค่าพันธุ์ อาหาร วัคซีน-ยารักษาโรค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการอื่นๆ ขณะที่ชีวิตของเกษตรกรต้องแขวนไว้กับปัจจัย ปริมาณและการบริโภค เป็นตัวชี้ขาดว่าปีไหนจะพอมีกำไรหรือขาดทุน
เรื่องที่น่าเห็นใจคือ ยามที่ราคาสินค้าพอจะมีแนวโน้มขยับขึ้นบ้าง ‘ตามกลไกตลาด’ จากปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค กลับไม่ได้ทำให้เกษตรกรสุขกายสบายใจ เพราะต้องมาลุ้นว่าจะถูกสังคมตัดสินว่าเป็นตัวการทำราคาขยับหรือไม่ และจะถูกภาครัฐเข้ามาดูแลราคาอีกหรือเปล่า
ดูอย่างกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่แม้ราคาหมูจะขยับตามกลไก แต่ก็ไม่ได้ทำให้คลายทุกข์ที่ต้องแบกภาระขาดทุนมานานกว่า 3 ปีได้ บางคนอาจมีคำถามว่าขาดทุนนานขนาดนี้แล้วยังทนเลี้ยงหมูไปทำไม ไม่ทำอาชีพอื่นหนีปัญหาเสียเลย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียว ไม่ได้มีทางเลือกอาชีพหลากหลาย บางคนสานต่อกิจการพ่อแม่ บางคนลงทุนไปแล้วก็ต้องประคองอาชีพต่อ ในเมื่อลงเลี้ยงหมูแล้ว ถึงเวลาขายจะได้กิโลกรัมละกี่บาทก็จำต้องขาย แม้รู้เต็มอกว่าต้องขาดทุนก็ตาม
ยิ่งก่อนนี้โดนพ่อค้าหัวใสกุเรื่องโรคระบาดหมูมาทุบราคา ขนาดเคยขายหมูถูกกิโลกรัมละ 50 กว่าบาท ทั้งที่ต้นทุนพุ่งไปกว่า 70-80 บาท ก็ต้องยอม ดีกว่าปล่อยหมูโตจนขาดทุนหนัก ซ้ำการบริโภคในช่วง 8-9 เดือนก่อนก็ลดลงอย่างมาก จากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือเพียง 16 กิโลกรัม/คน/ปี หรือลดลงเกือบ 40% จากการปิดประเทศ งดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการจับจ่ายชะลอตัว ประมาณการความเสียหายทั่วประเทศ จากการขายหมูขุนต่ำกว่าทุนสูงถึง 8,000-10,000 ล้านบาท
ที่สำคัญตั้งแต่ต้นปี 2564 เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เคยซื้อในราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ล่าสุดขึ้นมาเป็น 10.75 บาท (เคยทำสถิติสูงสุดถึง 12.50 บาท) ส่วนกากถั่วเหลืองตอนนี้ขึ้นไป 19.90 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ขณะที่ความไม่มั่นใจในสถานการณ์และภาวะโรค ทำให้เกษตรกรหายไปจากระบบ 50-60% ส่งผลให้ปริมาณหมูแม่พันธุ์ลดลงไปกว่า 40% จากเคยมีแม่หมูทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว ตอนนี้เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ส่วนหมูขุนปริมาณลดลงไป 30% จาก 18-19 ล้านตัว เหลือแค่ 14.7 ล้านตัวเท่านั้น
ทั้งต้นทุนวัตถุดิบและความเสียหายของตัวหมูนี้ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเฉลี่ยที่ต้องแบกรับสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาโรคหมู ที่อัตราเสียหายยิ่งสูงขึ้นไปอีก บางฟาร์มต้นทุนพุ่งไป 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เกษตรกรมักตัดสินใจขายหมูก่อนกำหนด เพื่อลดความเสี่ยง แม้รู้ว่าต้องขาดทุน ส่วนเกษตรกรรายอื่นๆก็ไม่กล้าเข้าเลี้ยงหมูอีก รวมถึงผู้เลี้ยงทั้งประเทศที่แม้ภาวะราคาจะดีขึ้นกว่าเมื่อต้นปี แต่ทั้งต้นทุนที่สูงต่อเนื่อง ความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดา รวมถึงโควิดที่เป็นอีกปัจจัยในการพิจารณาเลี้ยงหมูรอบใหม่
ปัจจุบันผู้เลี้ยงต่างพากันหยุดเลี้ยงหมู หรือเข้าเลี้ยงบางลงเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งในรายที่กัดฟันสู้ต่อ ต้องพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานทั้ง GFM สำหรับฟาร์มขนาดเล็ก และ GMP สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในระบบ Biosecurity ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรอีก 500 บาทต่อตัว
สวนทางกับการบริโภคที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังไทยกลับมาเปิดประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ คนไทยเริ่มออกมาใช้จ่าย นักเรียนเริ่มเปิดเรียนในระบบ ผนวกกับช่วงเทศกาลวันหยุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแย่งซื้อหมูของพ่อค้า
เมื่อปริมาณหมูน้อย การบริโภคดีขึ้น ก็เข้าหลักอุปสงค์-อุปทาน ทำให้กลไกตลาดเริ่มทำงาน แต่ในภาวะเช่นนี้ ใช่ว่าเกษตรกรจะมีกำไรงาม รายได้ที่มีวันนี้แค่พอต่อลมหายใจ ลดความบอบช้ำจากภาวะขาดทุนในช่วง 3 ปีมานี้ เงินขายหมูได้แค่พอใช้หนี้เก่าและต่อทุนการเลี้ยง เพียงแค่ลืมตาอ้าปากได้บ้างเท่านั้น
ต้องไม่ลืมว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย สามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ทั้งไก่ ไข่ ปลา ฯลฯ เพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อหมู โดยเฉพาะไก่ที่ราคาถูกกว่าหมู 3 เท่า แต่เกษตรกรมีเพียงการเลี้ยงหมูอาชีพเดียวเลี้ยงตัวเอง
ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจว่า เกษตรกรขายหมูหน้าฟาร์มแบบขายขาด ส่วนกำไรต่อจากนั้นเป็นของพ่อค้าหมูที่ไปบริหารจัดการเอง ส่วนเรื่องของเนื้อหมูที่บางคนบ่นว่าราคาสูงนั้น หมูขุน 1 ตัว น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เมื่อถูกชำแหละ นำเอาเลือด ขน เครื่องใน และของเสียในทางเดินอาหารออกแล้ว จะมีซากหมูที่ขายได้จริงเพียง 90-92 กิโลกรัม ในจำนวนนี้มีแค่ 44 กิโลกรัมเท่านั้น ที่ขายได้ราคาเท่ากับเนื้อแดง สำหรับชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ขายในราคาที่แตกต่างกันไป
วันนี้สิ่งที่ต้องขอคือ “ความเข้าใจ” จากภาคผู้บริโภค หากรู้สึกว่าราคาสินค้าสูง ก็หันไปรับประทานอย่างอื่นทดแทน เท่านี้กลไกตลาดก็จะทำงาน ราคาจะปรับลดลดลงเอง โดยไม่ต้องมีใครเข้าไปจัดการให้เสียเวลา คนได้กินโปรตีนหลากหลาย คนเลี้ยงยังได้ค้าขายอย่างสบายใจ ดังนั้นการปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี โดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซง จึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้
ขอบคุณ : สังวาล สยาม นักวิชาการอิสระ ด้านปศุสัตว์