ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant)

ปศุสัตว์เพชรบุรีเตือน!! “วัคซีนไม่ใช่ยา ใช้รักษาโรคลัมปี สกินไม่ได้” – ปศุศาสตร์ นิวส์

ปศุสัตว์เพชรบุรีแจ้งเตือนเกษตรผู้เลี้ยงโค-กระบือ “วัคซีนไม่ใช่ยา ใช้รักษาโรคลัมปี สกินไม่ได้” เป็นแล้วต้องรีบรักษาตามอาการ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา เป็นแล้วฉีดวัคซีนได้

นางขนิษฐา ธิติดิลกรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Khanittha Thitidilokrat แจ้งเตือนเกษตรผู้เลี้ยงโค กระบือ ระบุว่า เตือนกันอีกที “วัคซีนไม่ใช่ยา ใช้รักษาโรคลัมปี สกินไม่ได้” เป็นแล้วต้องรีบรักษาตามอาการ ฉีดยาแก้ปวด ลดไข้…ไม่ใช่ฉีดวัคซีน วัคซีนใช้เพื่อป้องกันเท่านั้น

วัวในฝูงติดเชื้อแล้วแต่ไม่ป่วย เพราะมีภูมิคุ้มกันดี ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ บางตัวติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ คอยสังเกตอาการไปเรื่อยๆ เป็นเมื่อไหร่ก็รักษา ฉีดยาแก้ปวด ลดไข้ ยาปฏิชีวนะต้านโรคแทรกซ้อน ฉีดวิตามิน AD3E บำรุงร่างกายด้วยอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พรีมิกซ์วัว จุลินทรีย์สำหรับสัตว์ช่วยดูดซึมสารอาหาร กำจัดพยาธิทั้งภายนอกภายใน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือด ยุง ริ้น เหลือบ เห็บ หมัด กันแมลงวี่ แมลงวันตอม กางมุ้งสีขาว แบบมุ้งปลูกผัก หรือมุ้งคน ขนาดตาถี่ที่ปลายปากกาลอดไม่ได้ มุ้งสีฟ้าเอาไม่อยู่ กันริ้นทะเล กันยุงไม่ได้ พ่นยากำจัดแมลงสม่ำเสมอ ทำให้สะอาดและแห้ง มีหลังคากันแดด กันฝน ให้วัวอยู่ดี กินดี

ไม่ต้องไปเชื่อคำโฆษณาว่า “เป็นแล้วฉีดวัคซีนได้” หรือเชื่อคำว่า “รักษาตามอาการฉีดวัคซีนแก้ไข้”

ปกติวัวหนุ่มสาวที่เลี้ยงดูอย่างดี อยู่ดีกินดี ติดเชื้อแล้วจะไม่ค่อยแสดงอาการ ถ้ามีบางตัวแสดงอาการก็ไม่ตาย แต่เมื่อเอาวัคซีนไปลง อาการจะหนักสองเท่า อาการรุนแรงขึ้น ฉีดวันนี้พรุ่งนี้ออกตุ่ม ลงปอด ลงข้อ รักษายาก รักษาไม่ทันจะตาย

ถ้าจะรู้ว่าติดเชื้อหรือยัง ต้องเจาะเลือดตรวจ…แบบเดียวกับ โควิด 19 ในคน

ส่วนโควต้าวัคซีนของเพชรบุรี รอบแรก 60,000 โด๊ส เราไม่ได้ เราจะได้ในรอบที่สอง ทราบตัวเลขที่จะได้แล้ว 3,202 โด๊ส แต่วัคซีนที่อยู่คาร์โก้สนามบินจะต้องผ่าน อย. รับรอง lot release ก่อน แล้วมาผ่านกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตรวจรับของ แล้วจัดส่งไปเก็บที่ห้องเย็น ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ทำหน้าที่เบิกจ่ายวัคซีนตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ถึงจะไปเบิกได้ คาดว่า ณ วันนี้เหลือพื้นที่ตำบลที่ปลอดภัย ที่จะฉีดวัคซีนได้ เรามีพื้นที่ยังไม่มีรายงานวัวป่วยน้อยลงแล้ว เพชรบุรีมี 99 ตำบลเกิดโรคแล้ว 64 ตำบล (เหลือ 35 ตำบลที่ยังไม่เป็น) และเป็นพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกิดโรคแล้ว 60 แห่งจาก 85 แห่ง (เหลือ 25 อบต.ที่ยังไม่เป็น)

ดังนั้นสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีจะตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนตามหลักวิชาการ จะฉีดให้วัวที่มีสุขภาพดี ฉีดในพื้นที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะพาหะนำโรคไปได้ไกลถึงรัศมี 50 กิโลเมตร คณะกรรมการจะพิจารณารอบด้าน เพื่อความปลอดภัยให้กับวัว และโปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com