โรค“ปากและเท้าเปื่อย” หรือที่ทุกคนเรียกกันคือ “โรค FMD” หรือ “โรคกีบ” เป็นโรคหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรมาช้านาน บ้างก็เรียกกันว่า “โรคประจำถิ่น” เพราะมีรายงานการระบาดทุกปี โดยเฉพาะโค กระบือ และสุกร ซึ่งโรคดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งความเสียหายด้านผลผลิตและการจำหน่าย ฉะนั้นมาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน
โรคปากและเท้าเปื่อย?
โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ FMD (Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสพบได้ในสัตว์ที่มีกีบคู่เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และกวาง ยกเว้นม้า ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมีอยู่หลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันมี 7 ชนิดคือ ชนิด A,O, C, SAT 1, SAT 2, SAT 3 และAsia 1 สำหรับในประเทศไทยพบ 3 ชนิดคือ ชนิด A, O และ Asia 1
เชื้อไวรัสแต่ละชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคปากและเท้าเปื่อยนั้นจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคซึ่งกันและกัน ดังนั้นสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเฉพาะชนิด O จะสามารถเกิดโรคที่เกิดจากชนิด A และ Asia 1
การติดต่อของโรคจากสัตว์สู่สัตว์
โรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยเฉพาะกับสัตว์ที่ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะติดโรคจากสัตว์ที่ป่วยได้โดยง่าย การติดต่อของโรคสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ทางคือ
1. การได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสัตว์ คน เสื้อผ้า รองเท้า สัตว์เลี้ยง อาหาร หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ภายในคอกสัตว์
2. การสัมผัสจากสัตว์ป่วยโดยตรง หรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำนม น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของเหลวจากตุ่มใส สัตว์ป่วยสามารถขับไวรัสออกมาได้แม้จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรค สำหรับสัตว์ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้แล้ว เมื่อไวรัสติดต่อเข้าไปจะไม่มีผลทำให้สัตว์แสดงอาการของโรค แต่สัตว์ตัวนั้นจะมีเชื้ออยู่ในตัว ซึ่งหมายถึงว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นพาหะของโรคได้
การติดต่อสู่คน
โรคนี้สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ ตามหลักการแล้วคนจะติดเชื้อจากโรคนี้ได้ทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งจะติดต่อโดยตรงทางเยื่อบุเมือก หรือการดื่มนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์มาก่อน แต่อาการของโรคที่เกิดกับคนจะไม่รุนแรงและไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่พบเหตุการณ์ที่ว่าโรคปากและเท้าเปื่อยที่เกิดกับสัตว์ติดต่อมาสู่คน
อาการของโรค
ในระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย 2 – 8 วัน สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เกิดเม็ดตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปากหรือลิ้น หรือเหงือก หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และเนื้อเยื่อจะลอก ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารลำบากจนกระทั่งกินอาหารไม่ได้
ในระยะที่สอง เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวหนังที่เท้าจะบวมแต่ง มีน้ำเหลืองขังอยู่ภายในแล้วแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณไรกีบหรือซอกกีบ ซึ่งอาจเปื่อย ลอกคราบ และอาจทำให้ขาสัตว์เสียได้ นอกจากนั้นหากเกิดในโคนมจะทำให้อัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกรจะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกรสูญเสียทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กำลังท้อง อาจทำให้สัตว์เกิดการแท้งและมีปัญหาการผสมไม่ติดได้
การควบคุมและป้องกันโรค
1. การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
2. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อย โดยการฉีดวัคซีน
3. การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์
4. การทำลายสัตว์ป่วย
วิธีป้องกัน
1. งดนำสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด
2. ห้ามยานพาหนะเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะรถที่เข้าฟาร์มหลายแห่ง เช่น รถรับซื้อโค-กระบือ และสุกร
3. ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
4. ฉีดวัคซีนปากและเท้าเปื่อยครั้งแรกตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน
5. ฉีดกระตุ้นซ้ำหลังฉีดครั้งแรก 3-4 สัปดาห์ ต่อจากนั้นฉีดทุก 4 เดือน
ขอบคุณ : สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม