ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News)

ผู้เลี้ยงสัตว์อ่วม “ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง” ฉุดไม่อยู่

เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หวั่นราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี มากกว่า 20% เป็นปัจจัยชะลอการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตอาหารของไทยในระยะยาวและกระทบการบริโภคในประเทศและการส่งออก อ้อนรัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและไก่ แบกภาระขาดทุนการผลิตสูงขึ้น 20-30% ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นประวัติศาตร์ของวงการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับขึ้นสูงสุดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านที่ 11.50 บาท/กิโลกรัม จากราคา 8-9.50 ขณะที่ราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองมีการปรับขึ้นจาก 13 บาท/กิโลกรัม เป็น 18-19 บาท/กิโลกรัม ราคาที่สูงขึ้นนี้สืบเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลาย ขณะที่สหรัฐและบราซิลนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล รวมถึงค่าระวางสินค้าปรับสูงต่อเนื่อง

วัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักคิดเป็น 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ และยังมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานปลายทางคือราคาเนื้อสัตว์ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศให้มีการปรับตัวสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิด เป็นสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรการรัฐ โดยกากถั่วเหลืองมีภาษีนำเข้า 2% ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รัฐมีการประกันรายได้เกษตรกรที่ราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ความชื้น 14.5% และมีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ซื้อในราคา 8 บาท/กิโลกรัม โดยไม่มีเพดานราคาขั้นสูง ทำให้ผู้ใช้ต้องแบกภาระ 2 ด้าน คือ ต้องใช้ข้าวโพดที่ราคาต่ำสุด 8 บาท/กิโลกรัม และต้องซื้อสูงตามราคาตลาด

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 3.5 ล้านตัน เนื่องจากผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนส่วนต่าง ภายใต้มาตรการของรัฐบาลกำหนดให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ยังไม่ทดแทนส่วนที่ขาดได้ (สัดส่วนปัจจุบันเท่ากับการนำเข้าข้าวโพดเพียง 1.6 ล้านต้นเท่านั้น) จำเป็นต้องปรับสัดส่วนลดลงให้ชดเชยส่วนที่ขาดได้เพียงพอที่อัตราประมาณ 1.5 : 1 จึงจะทดแทนส่วนที่ขาดได้

เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยังมีต้นทุนสูงขึ้นจากการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ ทั้งโรค ASF โรค PRRS และโรคไข้หวัดนก รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจน การวางระบบป้องกันโรคและเตือนภัย ตลอดจนช่วงวิกฤตโควิด 19 ต้องชะลอการจับสัตว์และการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุน และล่าสุดฟาร์มในหลายจังหวัดได้ผลกระทบจากอุทกภัย ล้วนเป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรทั้งสิ้น

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com