ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 กุมภาพันธ์ 2566) มีสื่อ 1 สำนัก พาดหัวข่าวจากโปสเตอร์เสนอขายเนื้อหมูของบริษัทหนึ่ง ว่า “ลดราคาโลละ 20 บาท แก้หมูเถื่อนทะลัก” ข่าวที่เผยแพร่ออกไปอาจส่งผลทางจิตวิทยากับผู้เลี้ยงสุกรไทยให้ “เร่ง” จับหมูขายก่อนกำหนด เพื่อความอยู่รอด เลี่ยงการขาดทุนหากราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงอีก เพราะเมื่อเนื้อหมูราคาต่ำก็จะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต กดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มให้ต่ำลงไปด้วย หากราคาที่ต่ำลงเกิดจากผลผลิตเกินความต้องการ ก็เป็นเพราะกลไกตลาดทำงานสมบูรณ์แบบ แต่ราคาที่ลดฮวบฮาบเวลานี้เกิดจาก “หมูเถื่อน” ซึ่งเป็นราคาที่บิดเบือน
ที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศตรึงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม มานานกว่า 9 เดือน (จนถึงเดือนธันวาคม 2565) ราคาก็เริ่มไหลลงมาเรื่อยๆ หลังการปราบปรามหมูเถื่อนของภาครัฐ “ชะงัก” ไป ต่างไปจากช่วงที่ภาครัฐจริงจังกับการปราบปรามหมูเถื่อน ค้าขายได้ไม่คล่องตัว ราคาหมูในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 100-102 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ทั้งเกษตรกร และผู้บริโภคอยู่ได้ แต่ขณะนี้ราคาอ่อนลงไปอยู่ที่ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 90-98 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้เลี้ยงต้องเร่งจับหมู เพื่อลดการขาดทุนให้น้อยที่สุด
ราคาหมูที่ลดลงมาตั้งแต่ ธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยันมาโดยตลอดว่าสาเหตุหลักมาจากหมูเถื่อนที่ยังมีการลักลอบนำเข้ามาต่อเนื่อง เพราะราคาในประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต้นทางทางตะวันตก จึงเป็นแรงจูงใจให้นำเข้าแบบผิดกฎหมาย เพราะการนำเข้าที่ถูกกฎหมายต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพเข้มงวด อาจไม่ผ่านมาตรฐานได้ อีกทั้งอาจเป็นหมูติดโรค หรือมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้มีการเสนอขายในราคาต่ำสุดๆ ที่สำคัญคือกดราคาหมูในประเทศให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทั้งที่ผลผลิตในประเทศยังมีปริมาณน้อย ราคาควรอยู่ในระดับสูงแต่กลับตกต่ำลง
ล่าสุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ย้ำว่าหมูเถื่อนเป็นปัจจัยที่กระทบภาคการผลิตโดยตรง ซึ่งภาครัฐต้องเร่งปราบปรามเร่งด่วน โดยคาดการณ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อกิโลกรัมของไตรมาสที่ 1/2566 (มกราคม-มีนาคม) อยู่ที่ 100.30 บาท, 100.73 บาท และ 101.06 บาท ตามลำดับ หากเทียบราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในปัจจุบันเกษตรกรขาดทุนแน่นอน สอดคล้องกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ที่เกษตรกรทางภาคใต้ออกมาเรียกร้องให้ปราบหมูเถื่อน เพราะทำให้ราคาหมูมีหน้าฟาร์มลดลงเหลือ 84 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม หากราคายังไหลลงต่อเนื่อง เกษตรกรอยู่ไม่รอดแน่
จากสถานการณ์หมูเถื่อนดังกล่าว เป็นแรงกดดันให้เกษตรกรเร่งจับหมูขายเพื่อ “ถอนทุนคืน” ด้วยเกรงว่าหากเลี้ยงหมูต่อจนครบกำหนด ราคาหมูจะร่วงลงไปมากกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก ไม่สามารถแบกขาดทุนสะสมได้ยาว เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ในช่วงนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ยิ่งกดราคาในประเทศให้ต่ำลงไปอีก ขณะที่ความต้องการบริโภคไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการบริหารจัดการรายได้โดยเลือกซื้ออาหารให้เหมาะสมกับกำลังซื้อมากขึ้น
หากภาครัฐไม่เร่งดำเนินการกำจัดหมูเถื่อน ราคาหมูไทยจะถูกบิดเบือนรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอาจร่วงลงไปแตะ 70 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ไม่มีแนวโน้มจะลดลง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อเป็นปีที่สอง เมื่อนั้นไทยอาจจะเป็นผู้นำเข้า “เนื้อสุกร” อย่างสมบูรณ์แบบ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศและสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้./
นงพนา สอนสิทธิ์ ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์