เฉลิมชัยสั่งปศุสัตว์คุมเข้มเนื้อเถื่อน ตรวจสอบห้องเย็นเข้ม ล่าสุดพบลักลอกนำเข้า ได้อายัดไว้กว่า 53 ตัน พื้นที่จังหวัดนครปฐม และสมุทรปราการ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ตามที่มีรายงานมีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศ อันไม่ถูกสุขลักษณะและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ มาเก็บในสถานที่เก็บซากสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการ จึงได้สั่งการด่วนไปยังอธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลดำเนินการมายังตนโดยเร็วนั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงได้สั่งการด่วนไปยังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.1 บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบห้องเย็น 2 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ พบไม่มีใบเคลื่อนย้ายและไม่มีใบนำฝาก จึงได้ทำการอายัดซากสุกรไว้กว่า 53 ตัน
รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง วันที่ 8 กันยายน 2565 ดังนี้ จุดที่ 1 บริษัท แห่งหนึ่ง ต.ท้ายบ้าน อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ผลการตรวจสอบพบสินค้าซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 7 รายการ ได้แก่ สามชั้นแผ่น จำนวน 11,468.80 กก. สันคอหมู จำนวน 23,789.89 กก. สะโพกหมู จำนวน 12,785.72 กก. สันนอกหมู จำนวน 4,352.43 กก. หางหมู จำนวน 68 กก. หน้ากากหมู จำนวน 114.80 กก. และไส้ใหญ่ จำนวน 202 กก. รวมทั้งสิ้น 52,781.64 กก.
จึงได้ทำการอายัดซากสุดยอดรวมน้ำหนักจำนวน เนื่องจากไม่สามารถแสดงใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 22 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามที่กําหนดในประกาศดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบกล่องบรรจุภัณฑ์ซากสุกร (กล่องเปล่า) ระบุข้อความภาษาต่างประเทศว่าเป็นซากสุกรที่นำเข้ามาจากประเทศอิตาลีและบราซิล เป็นจำนวนมาก จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน
และจุดที่ 2 บริษัทแห่งหนึ่ง ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการล่อซื้อเนื้อออนไลน์ โดยได้นัดรับสินค้าที่ห้องเย็นดังกล่าวเมื่อพบกับผู้ต้องสงสัย ได้แสดงตัวขอเข้าตรวจสอบเนื้อสุกร และได้ขยายผลเข้าตรวจสอบซากสัตว์แช่แข็งทั้งหมดที่จัดเก็บอยู่ภายในห้องเย็น รวมถึงเอกสารใบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ จากการตรวจสอบพบห้องเย็นมีใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งซากสัตว์ แต่ไม่ได้ทำการต่ออายุใบอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 24 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากการตรวจสอบสินค้าซากสัตว์แช่แข็ง ไม่สามารถแสดงใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ได้ มีจำนวน 2 รายการ คือ เครื่องในสุกรนำเข้าจากเม็กซิโก จำนวน 720 กก. และสันคอนำเข้าจากบราซิล จำนวน 351.9 กก. น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,071.9 กก. โดยสินค้าซากสุกรนำเข้าชุดดังกล่าว ทางผู้ประกอบกิจการไม่มีเอกสารการรับฝากสินค้า และไม่สามารถนำเอกสารนำเข้าที่เกี่ยวข้องมาแสดงได้
ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 22 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามที่กําหนดในประกาศดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 31 วรรค 1 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายทุกครั้งที่นําเข้า ส่งออกหรือนําผ่านราชอาณาจักร โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเอกสารมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงภายในกำหนด จะดำเนินการร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม และสมุทรปราการ ได้มีประกาศเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในชนิดสัตว์สุกรและหมูป่า ทำให้การเคลื่อนย้ายซากสุกรทุกครั้ง กำหนดให้ต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายในพื้นเขตโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดตัวอย่างสินค้าข้างต้น ส่วนจำนวนที่เหลือได้อายัดไว้ยังสถานที่ดังกล่าว เพื่อทำการตรวจสอบและส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร และสารเร่งเนื้อแดง ยังห้องปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ ต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง