ข่าว (News) สุกร (Pig)

พิชิต “หมูเถื่อน” ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก กำลังจะถึงจุดไคลแม็กซ์

หากติดตามการลักลอบนำเข้ามาของ “หมูเถื่อน” และการปราบปรามของภาครัฐมาต่อเนื่อง ถ้าเปรียบเป็น “ภาพยนตร์” กล่าวได้ว่า เรื่องนี้กำลังจะเดินไปถึงจุด “ไคลแม็กซ์” หลังคดีถูกเปลี่ยนมือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในการรวบรวมหลักฐาน ตรวจสอบของกลาง เพื่อสาวให้ถึง “จอมบงการ” ตัวจริง และคงอีกไม่นานเกินรอ ความจริงจะได้รับการพิสูจน์ และจับคนผิดไปลงโทษในตอนอวสาน

ภายในระยะเวลาสั้นๆ คดีดังกล่าวรุดหน้าและถูกดำเนินตามขั้นตอนการตรวจสอบของ DSI มีความโปร่งใสในการพิสูจน์หลักฐานที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้ ซึ่งการสืบสวนต่อไปเชื่อว่า DSI จะใช้หลักฐานและพยานแวดล้อมนำคดีนี้ไปสู่การเปิดเผย “จอมบงการ” และจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงของบทลงโทษ หากได้ทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน จะเป็นทางลัดที่ทำให้การสืบสวนง่ายขึ้น โดยก่อนหน้านี้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดประเด็นชื่อย่อนักการเมืองชื่อดัง คือ “ผ” “ป” และ “ช”  เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นนายทุนใหญ่ของเครือข่ายลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน โดย 2 คน มีธุรกิจเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ อีกหนึ่งคนเป็นผู้กว้างขวางในวงการเนื้อสุกรและเนื้อสัตว์

หากประเมินการดำเนินการของภาครัฐตั้งแต่ปี 2565 จนถึงการจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้ การพิชิตหมูเถื่อนทำได้ไม่ยาก โดยพิจารณาจากต้นทางของปัญหา ผู้เกี่ยวข้อง และการสกัดกั้น เบื้องต้นสรุปได้พอสังเขป 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. เร่งทำลายหมูเถื่อน 4,500 ตัน (4.5 ล้านกิโลกรัม) ที่จับกุมได้จากตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้

2. ขยายผลการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดี จากการจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้

3. เปิดตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังอีก 100 ตู้

4. ตรวจสอบเข้มงวดสินค้าเข้า-ออก ผ่านด่านศุลกากรที่ท่าเรือหลัก (ท่าเรือคลองเตย) และ ด่านฯ ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน

5. ตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ ปิดช่องหมูเถื่อนลักลอบฝากเก็บ

ทั้ง 5 ขั้นตอน จะสำเร็จได้ต้องรับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และ DSI ให้การทำงานเชื่อมโยงกันอย่างราบรื่น แม้ว่ากรมศุลกากร จะส่งมอบคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ให้กับ DSI แล้วก็ตาม แต่ยังมีตู้สินค้าที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรต้องตรวจสอบอีก เช่น ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือสงขลา เป็นต้น รวมถึงต้องใช้กฎหมายของกรมศุลกากร ตามเป้าหมายการจับกุมผู้กระทำผิดไปลงโทษ ไม่ใช่เพียงแค่ยึดของกลางและแจ้งความที่สถานีตำรวจ แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจเท่านั้น หรือ ผลัดกันจับกับกรมปศุสัตว์ ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีเอกภาพเหมือน “แข่งกันโชว์ผลงาน” มากกว่าการปราบปรามให้สิ้นซาก

จากข้อมูลหลักฐานต่างๆ และขั้นตอนการกำจ้ดหมูเถื่อนดังกล่าว จะช่วยให้ DSI ขมวดเรื่องได้ไม่ยาก แม้จะเป็นเพียงเคสเดียวที่ DSI รับมาเป็นคดีพิเศษ ด้วยมูลค่าความเสียหายมีวงเงินสูง แต่สามารถขยายผลไปยังคดีอื่นๆ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ได้ และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กรมศุลกากร ปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด 100% โดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะเชื่อว่า “หมูเถื่อน” ที่จับได้แม้จะเป็นล็อตใหญ่ที่สุดยังเป็นเพียง 3-5% ของการลักลอบนำเข้าจริง เพราะมีการประเมินกันว่าความเสียหายจากการนำเข้าหมูเถื่อนทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท.

สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com