ชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ หรือ “พ่อเลี้ยง ราชาไข่ไก่“ กรรมการผู้จัดการบริษัท คิงส์เอ้กส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทายาทรุ่นสองผู้มาสร้างตำรับใหม่ให้แก่ธุรกิจไก่ไข่และปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านไข่ไก่คุณภาพ ภายใต้แบรนด์ “King Eggs” (ราชาไข่ไก่) และปุ๋ยอินทรีย์ โชบุ
สุนทรฟาร์ม (ราชาไข่ไก่) เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ยังเป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว มีอัตราการผลิตที่ 30,000 ฟองต่อวัน กระทั่งพ่อเลี้ยงเข้ามาสานต่อจากสุนทร สิวะโมกข์ ผู้เป็นบิดาและผู้ก่อตั้งฟาร์ม พบว่าสุนทรฟาร์ม ชื่อนี้ซ้ำกับฟาร์มอื่นค่อนข้างมาก ทั้งฟาร์มปลา ฟาร์มหมู ประกอบกับเป็นช่วงที่กำลังจะทำป้ายหน้าฟาร์มพอดี ซึ่งคิดไว้หลายชื่อมาก จึงสะดุดคำว่า “ราชา” เพราะเป็นชื่อที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นและเป็นผู้ให้ กลายเป็นที่มาของ “สุนทรฟาร์ม (ราชาไข่ไก่)”
เมื่อการบริหารงานเป็นไปตามแบบแผนที่วางไว้ทั้งงานในฟาร์มและการตลาด พ่อเลี้ยงเริ่มมองหาพื้นที่เพื่อสร้างฟาร์มใหม่ เนื่องจากธุรกิจเริ่มขยายตัวมากขึ้นดังนั้นการบริหารงานจึงเข้าสู่รูปแบบบริษัท เพื่อรองรับการขยายตัวโดยใช้ชื่อว่า “บริษัท คิงส์เอ้กส์ (ประเทศไทย) จำกัด”
คลิปสัมภาษณ์ “พ่อเลี้ยง ราชาไข่ไก่”
ความปราณีต ต้นแบบความสำเร็จ
จุดเด่นของบริษัทฯ คือ การทำฟาร์มโดยใช้ความปรานีตที่เป็นแบบแผนดั้งเดิมตั้งแต่อดีต นำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบมากขึ้นบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเลี้ยง ซึ่งเทคโนโลยีที่เลือกจะต้องเป็นอะไรที่มีความสม่ำเสมอและสามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศหรือสิ่งแวดล้อม
ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ไข่จะมีอยู่ 2 อย่างคือ
1. สภาพแวดล้อมรอบตัวไก่ ไม่ว่าจะเป็นด้านอากาศ และสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เสียง มีการรบกวนมากน้อยเพียงใด ส่วนอากาศทางฟาร์มสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ระบบอีแวป (Evap) ซึ่งตอบโจทย์ได้ดีสำหรับการเลี้ยง เนื่องจากสามารถควบคุมอุณหภูมิได้และมีการไหลเวียนของอากาศที่ดี รวมถึงเรื่องของเชื้อโรคต่างๆ ทางบริษัทมั่นใจในระบบทำความเย็น (Cooling Pad) ของบริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ดีมาก และระบบอีแวปยังสามารถช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญไม่มีสัตว์อื่นๆ ที่เป็นพาหะนำโรคเข้ามาในโรงเรือนได้
2. สิ่งที่ให้ไก่กินก็คือ น้ำและอาหาร ซึ่งปัจจุบันก็ใช้อาหารของบริษัทที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับอาหารทุกล็อตที่นำมาส่งได้ โดยการเก็บตัวอย่างอาหารทุก 2 กิโลกรัม เพราะหากเกิดปัญหา ทางฟาร์มก็จะมีตัวอย่างไปตรวจสอบได้
ส่วนมาตรฐานอื่นๆ เช่น มาตรฐานการผลิตจะเซ็ตระบบขึ้นมาใช้ โดยยึดตามเกณฑ์ระบบมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ตลอดจนการเข้า-ออกไก่ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ จะมีสัตวแพทย์ควบคุม และมาตรฐานอื่นๆ ที่คิดว่ายังไม่พอหรือว่ายังมองว่าสามารถพัฒนาได้อีก ทางฟาร์มก็จะพัฒนาให้ดีที่สุด จนบางส่วนสามารถทำได้ดีกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้
“มาตรฐานอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงก็สำคัญ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ช่วงเริ่มแรกเลือกใช้อุปกรณ์ที่นำเข้าจากประเทศจีน เช่น กรงไก่ แผ่นคูลลิ่งแพด ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานค่อนข้างสั้นต้องเปลี่ยนบ่อย แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสามารถใช้ได้นานเกือบ 10 ปี สิ่งที่รับรู้ถึงความแตกต่างก็คือ ระบบการให้อาหารมีความสม่ำเสมอ ระบบอากาศสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี และจัดการง่าย จากเดิมเลี้ยง 20,000 ตัว ใช้พนักงาน 2 คน พอเปลี่ยนระบบเลี้ยงไก่ไข่ 45,000 – 50,000 ตัว/โรงเรือน ใช้คนดูแลเพียง 1 คน ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน เพราะทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ มีความสม่ำเสมอในการทำงานหรือที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น” พ่อเลี้ยงเผยและย้ำอีกว่า
“ความแตกต่างของการใช้กรงที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีราคาถูกกว่าก็จริงแต่อายุการใช้งานสั้น เมื่อเทียบกับการใช้กรงที่ได้มาตรฐานซึ่งราคาอาจจะสูงกว่า แน่นอนว่าอายุการใช้งานก็จะนาน 3-4 เท่า และที่สำคัญไม่ต้องทิ้งช่วงระยะเวลาการปรับปรุงด้วย เพราะบางทีการเซ็ตระบบใหม่หรือรื้ออุปกรณ์เก่าออกอาจใช้เวลา 3-4 เดือน แต่ถ้าเป็นกรงที่มีมาตรฐานเลี้ยงหมดรุ่น ก็สามารถเลี้ยงรุ่นถัดไปได้เลย ซึ่งจะคุ้มค่าและสามารถเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระหว่างทาง การให้อาหารที่สม่ำเสมอทำให้ไก่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ไก่ให้ไข่เกือบ 100%”
สินค้าคุณภาพ เกิดจากการดูแลเอาใจใส่
ในการเลี้ยงไก่จะต้องมีการเอาใจใส่ทุกขั้นตอนจากคนเลี้ยง ซึ่งพ่อเลี้ยงได้รับการติดอาวุธจากเตี่ย หรือที่เรียกว่า “ถอดแบบมาเลย” นั่นก็คือ การลงมือทำงานและเข้าไปดูแลทุกรายละเอียดในฟาร์มด้วยตนเอง และส่งต่อสิ่งเหล่านั้นไปยังพนักงานในฟาร์มทุกคน เพื่อให้พนักงานดูแลไก่อย่างละเอียดและปราณีต ส่งผลให้ไก่ตอบสนองหรือให้ความร่วมมือในการออกไข่ที่สูง ที่สำคัญเมื่อเจ้าของฟาร์มเข้าไปช่วยดูแลทั้งด้านการงานและความเป็นอยู่ ทำให้พนักงานเกิดความประทับใจมากขึ้น เป็นการเติมกำลังใจในการทำงาน พอเขามีกำลังใจ เขาก็จะดูแลไก่ได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
สร้างแบรนด์ “คิงส์เอ้กส์” รุกตลาดไข่ไก่
แนวทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ รูปแบบ Packaging (กล่อง) ขนาดบรรจุ 30 ฟอง และ 60 ฟอง ซึ่งจะจำหน่ายกลุ่มลูกค้าของฝาก หรือใช้ในงานโอกาสต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ เป็นต้น ในส่วนนี้มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10% ที่เหลือจะเป็นตลาดพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะจำหน่ายเป็นไข่คละ เพื่อให้ลูกค้านำไปคัดไซส์จำหน่ายได้ และยังเปิดโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจต้องการทำธุรกิจอีกด้วย
“เงินลงทุน 20,000 บาท ก็สามารถขายไข่ได้ โดยใช้กลยุทธ์ง่ายๆ คือ ทดลองขาย 100 แผง ให้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ถ้าสามารถทำได้จะขาย 1,000 แผง หรือ 10,000 แผง ก็สามารถขายได้ เริ่มต้นจากรายเล็กๆ อนาคตคือรายใหญ่ได้ไม่ยาก”
กลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท คือ การสื่อให้ทุกคนเห็นภาพ การทำงานที่มีคุณภาพจะเป็นตัวดึงดูดลูกค้าเข้ามา จากนั้นก็จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ได้ “มาตรฐาน” และ “คุณภาพ” (Quality) นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และปัจจุบันมีการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังศึกษาหาความรู้ หรือข้อมูลอื่นๆ ด้านโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะนำเอาองค์ความรู้มาปรับใช้ในฟาร์ม ซึ่งในการทำตลาดนี้ควรทำทั้งออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ (Online)
“ตลาดออนไลน์เปรียบเสมือนผู้หญิงสวยที่เดินผ่านมามีแต่คนมอง เมื่อมองแล้วสะดุดตาเขาก็จะเข้ามาถามก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ หากเขาถูกใจหรือสนใจก็จะเข้ามาหาเรา ฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ มีข้อมูลที่ดีหรือมีสินค้าคุณภาพไว้นำเสนอ ถ้าตรงกับความต้องการเขาก็จะเลือกเราเป็นคู่ค้ากัน ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง” พ่อเลี้ยงกล่าว และทิ้งท้ายว่า
“ทำธุรกิจต้องคิดในแง่บวกเสมอ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และมีความเข้าใจผู้คนด้วย บางทีเขาอาจเจอปัญหามาจากที่อื่น หรือเจอปัญหาที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจให้มากและรับฟังอยู่เสมอ ถ้าเราทำได้เราก็จะไม่เหนื่อย และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีความสุข”
ข้อคิดคนเกษตร : แค่คิดบวก ชีวิตก็เป็นสุข
ขอขอบคุณ : คุณชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ กรรมการผู้จัดการบริษัท คิงส์ เอ้กส์ (ประเทศไทย) จำกัด 43 หมู่ 7 ต.บางกะไห อ.เมือง ฉะเชิงเทรา (ประเทศไทย)
Tel : 089-934-1593
Email : ceo@kingegg.com
Sponsored : คลิกเลย!!!