ปี 2564 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสุกรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ ร้อน แล้ง และอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่กระทบต่อตัวสุกรทำให้อ่อนแอและไวต่อการเกิดโรค นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมทำให้เชื้อโรคมากับน้ำ ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับความเสียหายอย่างมาก
โดยเฉพาะสถานการณ์โรคในสุกร ทั้ง PRRS PED ฯลฯ ทำให้สุกรแม่พันธุ์เสียหายมากถึง 40% จากจำนวน 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณผลผลิตสุกรขุนปรับลดลงถึง 30% จากปี 2563 จากที่เคยมีจำนวนสุกรประมาณ 18-19 ล้านตัวต่อปี เหลือเพียง 14.7 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น ความเสียหายของสุกรถือเป็นอีกภาระหนักที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อัตราเสียหายยิ่งมากเท่าใด ย่อมกระทบกับต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท จากปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 11.20-12.20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี ส่วนจีนราคาสูงถึง 12.80 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับประเทศไทยเคยมีราคาสูงถึง 12.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลัก 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ เกษตรกรต้องเพิ่มความเข้มงวดด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เนื่องจากกลุ่มสุกรมีโรคประจำถิ่นจำนวนมาก จึงสร้างภาระการดูแลมากขึ้น ส่งผลให้มีค่าแรงงานในการดำเนินการเพิ่ม การใช้เงินลงทุนไปกับค่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่จำเป็น กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พบว่าเกษตรกรมีต้นทุนส่วนนี้มากถึง 400-500 บาทต่อตัว และหลังจากนี้ผู้เลี้ยงจะต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานทั้ง GFM-สำหรับฟาร์มขนาดเล็ก GMP-สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ และ GAP ที่กรมปศุสัตว์กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งความเสียหายของสุกร ต้นทุนวัตถุดิบ การยกระดับป้องกันโรค และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาโรคสุกร อัตราเสียหายยิ่งสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ต้นทุนพุ่งขึ้นไป 100-120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และพื้นที่ที่พบภาวะโรคส่วนใหญ่เกษตรกรมักตัดสินใจขายสุกรก่อนกำหนด เพื่อลดความเสี่ยง แม้รู้ว่าต้องขาดทุน ส่วนเกษตรกรรายอื่นๆก็ไม่กล้าเข้าเลี้ยงสุกรอีก รวมถึงผู้เลี้ยงทั้งประเทศที่แม้ภาวะราคาจะดีขึ้นกว่าเมื่อต้นปี แต่ทั้งต้นทุนที่สูงต่อเนื่อง ความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดา รวมถึงสถานการณ์โควิด กลายเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลี้ยงสุกรรอบใหม่
ยิ่งก่อนนี้เกษตรกรถูกพ่อค้ารับซื้อสุกร กุเรื่องโรคระบาดสุกรมาทุบราคา ถึงขนาดเคยขายสุกราคาถูกกิโลกรัมละ 50 กว่าบาท ทั้งที่ต้นทุนขณะนั้นสูงกว่า 70-80 บาท ประมาณการความเสียหายทั่วประเทศ จากการขายสุกรขุนต่ำกว่าทุนสูงถึง 8,000-10,000 ล้านบาท ก็ยิ่งซ้ำเติมภาระขาดทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับมากว่า 3 ปี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แหล่งข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร / กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
หมายเหตุ : * เฉลี่ยไตรมาส 3/2564
วันนี้จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศที่เคยมีถึง 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นรายเท่านั้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเลิกเลี้ยงจากปัญหาด้านเงินลงทุน บางรายชะลอการเลี้ยงไว้ก่อน แต่การป้องกันโรคยังคงต้องดำเนินการต่อไป โดยผู้เลี้ยงต้องบริหารจัดการ ทั้งเรื่องความสะอาดและการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน จึงจะสามารถกลับเข้าเลี้ยงสุกรได้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาสร้างความเสียหายให้กับฝูงสุกรที่จะเข้าเลี้ยงใหม่ เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตต่อไป แม้ฟาร์มจะไม่มีผลผลิตแล้วก็ตาม
ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ การขาดเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ จากภาระหนี้สินสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และผลกระทบหนักที่สุดในช่วงปี 2564 นี้ ที่การเลี้ยงสุกรต้องหยุดชะงัก เกษตรกรจึงไม่สามารถขอกู้เงินในระบบได้ เพราะสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากขาดรายได้ และไม่มีหลักประกันในอาชีพ เกษตรกรจึงขาดที่พึ่ง และไม่มีแรงสู้ต่อกับอาชีพเลี้ยงสุกร หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเช่นนี้ ก็จะกระทบให้ปริมาณสุกรลดลงยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลกับความมั่นคงทางอาหารโปรตีนของประเทศอย่างแน่นอน
ส่วนการบริโภคในช่วง 8-9 เดือนก่อนก็ลดลงอย่างมาก จากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือเพียง 16 กิโลกรัม/คน/ปี หรือลดลงเกือบ 40% จากการปิดประเทศ งดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการจับจ่ายชะลอตัว โดยการบริโภคกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการและปลดล็อกดาวน์ และนักเรียนกลับเข้าเรียนในระบบ ผนวกกับใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุด ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายมากขึ้น สวนทางกับผลผลิตสุกรขุนที่เข้าสู่ตลาดลดลงกว่า 30% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแย่งซื้อสุกรของพ่อค้า กลไกตลาดที่แท้จริงจึงเริ่มทำงาน ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน
ภาวะเช่นนี้ ใช่ว่าเกษตรกรจะมีกำไรงาม รายได้ที่มีวันนี้แค่พอต่อลมหายใจ ลดความบอบช้ำจากภาวะขาดทุนในช่วง 3 ปีมา เงินที่ขายสุกรได้แค่พอจะลืมตาอ้าปากเท่านั้น และต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรมีเพียงการเลี้ยงสุกรอาชีพเดียวที่เลี้ยงตัวเอง ไม่ได้มีทางเลือกอาชีพหลากหลาย ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย สามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ทั้งไก่ ไข่ ปลา ฯลฯ เพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อสุกร ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง
วันนี้เกษตรกรขอเพียงผู้บริโภค และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าใจและปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน เมื่อผู้เลี้ยงที่ยังไม่ลงเลี้ยงรอบใหม่ เห็นว่าสถานการณ์เป็นภาวะที่พอลงทุนได้ พอคุ้มทุนบ้างก็จะทยอยกลับเข้ามาในระบบ ปริมาณสุกรก็จะเพิ่มขึ้น สู่สมดุล และราคาก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้เอง โดยจำเป็นต้องมีการเข้าไปแทรกแซง ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้
ขอขอบคุณ : ปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ