ข่าว (News) สุกร (Pig)

ราคาหมูหน้าฟาร์ม ยังไม่พ้นต้นทุน สะท้อนภาระคนเลี้ยงหมู

ขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในวงการเลี้ยงหมูก็กำลังหวั่นวิตกกับโรคในหมูอย่าง PRRS ที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ มีแม่พันธุ์เสียหายมากกว่า 300,000 ตัว จากเดิมไทยมีแม่หมู 1.1 ล้านตัว คาดว่าปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 8 แสนตัว

ผลผลิตหมูขุนหายจากระบบถึง 30% ของอุตสาหกรรม จากที่เคยมีอยู่ 19-20 ล้านตัวต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 14.7 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น สวนทางกับปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการต่างๆทั่วประเทศ และการเรียนการสอนที่กลับมาดำเนินการได้แล้ว เป็นปัจจัยบวกทำให้การบริโภคเนื้อหมูกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ส่วนราคา จะประกาศราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ถือว่าเป็นราคาขายเพิ่งพ้นต้นทุน จากการประเมินต้นทุนการเลี้ยงโดย ‘คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร’ ใน Pig Board เฉลี่ยไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 80.80 บาทต่อกิโลกรัม

สะท้อนว่าคนเลี้ยงหมูยังต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อไป ทั้งจากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาสูงถึง 10.50 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาพุ่งไป 19.50 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ส่วนมันสำปะหลัง (มันเส้น) ราคา 8.00-8.10 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงรำและปลายข้าวที่แนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งหมดส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นกว่า 25% โดยต้นทุนอาหารมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นประมาณ 60-70% ของต้นทุนการผลิตหมู

นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องเร่งยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มแข็งขึ้น ทั้ง PRRS PED และ ASF รวมทั้งการเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 แก่ผู้ที่ทำงานในฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กระทบการเลี้ยงหมู ส่งผลต่อต้นทุนค่าบริหารความเสี่ยงในการป้องกันโรคระบาด ทั้งในคนและในหมูสูงมาก โดยเฉพาะการทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่สร้างต้นทุนแฝงในหมูขุนเพิ่มขึ้นอีก 300-500 บาทต่อตัว

ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงยังต้องใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับการปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ รวมถึงมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP) ที่กรมฯกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับใช้ในฟาร์มหมูขุนและฟาร์มหมูแม่พันธุ์

วันนี้ปริมาณการผลิตหมูกำลังลดลงจากความวิตกของผู้เลี้ยงที่มีต่อปัจจัยลบต่างๆ ทั้งจากสถานการณ์โรคในหมู ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย แม้จะรัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆแล้วก็ตาม ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็สร้างความเสียหายและทิ้งบาดแผลให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ ซึ่งกว่าจะกลับมาเลี้ยงหมูได้ก็ต้องใช้เวลาและเงินลงทุน สำหรับการฟื้นฟูซ่อมแซมเพื่อเข้าเลี้ยงหมูรอบใหม่

เมื่อรวมกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ผนวกกับภาวะขาดทุนสะสมที่ต้องแบกรับมากว่า 3 ปี รวมถึงภาระขาดทุนหนักในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยประมาณการความเสียหายทั่วประเทศจากราคาหมูขุนขายต่ำกว่าทุนอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท กลายเป็นความกดดันที่มีต่อผู้เลี้ยง และมีผลต่อการตัดสินใจเข้าเลี้ยงหมู ทุกคนต่างลดความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยงหมูเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยเฉพาะในเกษตรกรรายเล็กที่ต้องหยุดเลี้ยงหมูโดยสิ้นเชิง ด้วยข้อจำกัดด้านเงินลงทุน ส่วนผู้เลี้ยงทั้งรายกลางและรายใหญ่ ตัดสินใจพักเล้าและชะลอการเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงหมูบางลงไม่เต็มกำลังการผลิต หรือแม้แต่เลี้ยงแม่หมูไว้โดยไม่เข้าผสมจึงไม่มีผลผลิตลูกหมู เพื่อบริหารความเสี่ยงในอาชีพ

ปัจจัยทั้งหมด ทำให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว ราคาหมูจึงเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งหมูถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภค เป็นตัวกำหนดทิศทางราคา การลดลงของผลผลิตที่ 5% จะกระทบต่อราคาที่เพิ่มขึ้น 20% ปริมาณหมูทั้งประเทศที่หายไปถึง 30% ขณะที่การบริโภคกลับเพิ่มขึ้น ย่อมมีผลต่อภาวะราคาหมูอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบราคาหมูไทย กับประเทศอื่นๆที่มีปัญหาขาดแคลนหมูเช่นเดียวกันแล้ว ถือว่าหมูไทยราคายังต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ราคาหมูมีชีวิต 137.78-147.87 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ จีนราคา 89.16-103.05 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนกัมพูชาราคา 85.08 บาทต่อกิโลกรัม

สิ่งที่เกษตรกรต้องการไม่ใช่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด เพียงแต่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานตามภาวะที่แท้จริง รวมทั้งขอความเห็นใจและความเข้าใจจากผู้บริโภค ว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างผลกำไรหรือทำให้เกษตรกรร่ำรวย เพราะเพียงแค่ต่อลมหายใจคนเลี้ยงไม่ให้ล้มหายตายจากเท่านั้น

ขอบคุณ : สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com