เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง แนวทางการนำ กัญชง-กัญชา มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพืชกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน จึงยกเว้นส่วนต่างๆ ของกัญชง กัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ จะต้องมีคุณประโยชน์และความปลอดภัยต่อสัตว์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“อาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ” หมายความว่า อาหารสัตว์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
“กัญชง” หมายความว่า พืชกัญชง หรือที่มีชื่อเรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. subsp. Sativa เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
“ส่วนของกัญชง กัญชา” หมายความว่า วัตถุหรือสารที่ได้จากกัญชง กัญชา เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5
“สารสกัดของกัญชง กัญชา” หมายความว่า สารที่ได้จากการสกัดจากส่วนของกัญชง กัญชา เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
“ห้องปฏิบัติการ” หมายความว่า ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในขอบข่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสารในกัญชง กัญชา
ข้อ 4 ในการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พิจารณาก่อนออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ดังนี้
(ก) ห้ามนำส่วนของยอด ช่อดอก หรือเมล็ด ของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดจากยอด ช่อดอก หรือเมล็ด ของกัญชง กัญชา มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ
(ข) การนำส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ที่นอกเหนือจาก ข้อ ๔ (ก) มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะได้ ต้องมีผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการประกอบการพิจารณา โดยผลวิเคราะห์ต้องตรวจไม่พบปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) และสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ในส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ดังกล่าว เว้นแต่มีหลักฐานทางวิชาการ งานวิจัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุว่าปริมาณที่ตรวจพบ เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะแล้ว มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อสัตว์นั้นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ในส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ต้องไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
(ค) ส่วนของกัญชง กัญชา หรือสารสกัด ของกัญชง กัญชา ตามข้อ 4 (ข) ต้องมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตผลิต โดยพืชกัญชง กัญชา ต้องปลูกภายในประเทศเท่านั้น
ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565