“ไก่งวง” (Turkey) หลายคนอาจมองว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นบ้าง เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมบ้าง ขณะนี้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่ตลาดมีความต้องการสูงทั้งในตลาดผู้บริโภคและอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโปรตีนอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีและมีคุณค่าสูง
ขณะเดียวกันในบ้านเราแม้ว่าความต้องการไก่งวงจะสูง จนผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ผู้ผลิตก็ไม่ได้เพิ่มการผลิต เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นคงด้านการตลาดและคุณภาพเป็นหลัก
คุณศรีวรพงษ์ ฤาชา (เฟริส์ท) นักพัฒนาชุมชนและแกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทย เจ้าของ “ฤาชา ฟาร์ม” (Luecha Farm) ย้อนประวัติก่อนมาทำธุรกิจไก่งวงแช่แข็งและแปรรูปแบบครบวงจรว่า เริ่มชีวิตการทำงานด้านปศุสัตว์จากการเลี้ยงไก่สามสาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนของตลาด จึงหันเหมาเลี้ยงไก่งวงแทนเพียงเพราะว่า มีความชื่นชอบและนิยมบริโภคไก่งวง อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยเปิดร้านอาหารอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน จึงมีคอนเนคชั่นกับร้านอาหารอื่นอยู่บ้าง และทราบว่ายังไม่มีการนำเข้าไก่งวงจากต่างประเทศมาระยะหนึ่ง จึงทดลองเลี้ยงรุ่นแรก จากนั้นนำมาชำแหละแล้วนำไปเสนอกับทางร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า (แม็คโคร) ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 50 ตัน/ปี
“ตอนคุยครั้งแรกมีไก่งวงอยู่ในมือแค่ 10 ตัว แต่มองเห็นถึงโอกาส บวกกับที่เรียนจบด้านพัฒนาชุมชน คิดว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านผู้เลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก จึงมีการรวมตัวกันกับผู้เลี้ยงไก่งวงและผู้ที่สนใจจะเลี้ยง ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรถึงจะขายไก่งวงได้ โดยเริ่มจากการทำฟาร์มให้ได้มาตรฐาน ต้องย้อนกลับไปถึงการอบรมมาตรฐานฟาร์ม ศึกษาเรื่องกฏระเบียบของกรมปศุสัตว์ ฉะนั้นจึงจัดอบรมให้เกษตรกรเพื่อนำไปปรับปรุงฟาร์มให้ได้ตามมาตรฐาน ส่วนความรู้ด้านการเลี้ยงไก่งวงไม่ทราบมาก่อน อาศัยศึกษาจากสื่อออนไลน์และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง สระบุรี”
เอกลักษณ์ของไก่งวงจะอยู่ที่กลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว มีโปรตีนสูงคอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งเนื้อไก่งวงที่อร่อยจะมีอายุประมาณ 5-7 เดือน ต่างประเทศจะนิยมนำไปอบมากกว่านำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น โดยจะใช้เวลาอบประมาณ 4-5 ชม. เพื่อให้เครื่องเทศเข้าถึงเนื้อไก่งวง ซึ่งจะแตกต่างกับทางบ้านเราที่ส่วนมากจะนำมาแปรรูปเป็นเมนูผัดเผ็ด ลาบ หรือต้ม เป็นต้น ทำให้อรรถรสของไก่งวงนั้นหายไปพอสมควร
ลักษณะการเลี้ยงจะมีการทำสัญญาในราคาประกันรับซื้อกิโลกรัมละ 130 บาท โดยเกษตรกรที่เลี้ยงไก่งวงจะต้องวางเงินประกันตามที่ตกลงกันไว้ และจะได้รับเงินคืนก็ต่อเมื่อถึงเวลาจับจำหน่าย ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงและก่อให้เกิดความเสียหายได้ เนื่องจากมีข้อตกลงกับลูกค้าว่าจะต้องส่งไก่งวงตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
“การทำธุรกิจในปีแรกมีปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตไม่เพียงพอ ส่วนปีที่สองประสบปัญหาได้จำนวนแต่สรีระไม่ได้หรือคุณภาพเนื้อไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เนื่องจากโปรตีนไม่ถึงทำให้ไก่งวงผอมเหมือนไก่บ้าน เพราะไก่งวงเป็นสัตว์ที่มีความต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงถึง 28% ซึ่งมากที่สุดในบรรดาสัตว์ปีกทั้งหมด จึงแก้ไขโดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผลิตอาหารสัตว์โปรตีน 28% ขึ้นมาเป็นอาหารไก่งวงโดยเฉพาะ มีทั้งหมด 3 สูตรคือโปรตีน 28% , 21% และ 18% ให้กินตามช่วงอายุของความต้องการปริมาณโปรตีน ปัจจุบันมีความพร้อมและความสมบูรณ์ทั้งปริมาณ (จำนวน) และคุณภาพซากของไก่งวงที่ผลิตได้”
ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 400 กว่าราย โดยฟาร์มขุนจะกำหนดการเลี้ยงที่ 500 ตัว/ฟาร์ม เนื่องจากการขนส่งรถหนึ่งคันสามารถบรรจุไก่งวงได้ 500 ตัว ฉะนั้นการรับซื้อจึงเหมาะสำหรับการเข้าโรงเชือดและการแช่แข็งในแต่ละครั้ง สามารถจัดการเป็นระบบได้ง่าย ซึ่งพื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสาน 70-80% โดยแบ่งเป็นอีสานเหนือและอีสานใต้ ส่วนภาคกลางและภาคเหนือจะอยู่ที่ละ 10-15%
หลักเกณฑ์การรับสมาชิกหรือเครือข่ายในปัจจุบัน จะต้องสามารถเลี้ยงไก่งวงได้อย่างน้อย 500 ตัว โดยมารับลูกไก่งวงเองกับทางโรงฟักของเครือข่ายที่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีอยู่ 10 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ผลิตลูกไก่งวงป้อนให้แก่สมาชิก
“ดูความพร้อมของการทำฟาร์ม การเรียนรู้และทำความเข้าใจในการเลี้ยงแบบเป็นมาตรฐาน โดยมีการจัดอบรมให้ สิ่งสำคัญจะต้องมีปัจจัยในการเลี้ยงด้วย เพราะการเลี้ยงไก่งวงจะต้องใช้ต้นทุนในการซื้ออาหารและบริหารฟาร์ม โดยคำนวณจากอัตราการแลกเนื้ออยู่ที่ 1:3 หรือกินอาหาร 3 กิโลกรัม สามารถแลกเนื้อได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งอาหารไก่งวงเฉลี่ยตกอยู่กิโลกรัมละ 20 กว่าบาท ใช้อยู่ประมาณ 15 กิโลกรัม/ตัว รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตกที่ประมาณ 300 บาท”
ระยะเวลาในการเลี้ยงที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 5-5.5 เดือน ซึ่งหากเป็นไก่งวงตัวเมียเลี้ยงนานเกิน 5.5 เดือนไปแล้วจะเริ่มสร้างรังไข่เพื่อให้ไข่ ดังนั้นอาหารที่กินไปจะไม่นำไปใช้ในการสร้างเนื้อแต่จะนำไปสร้างรังไข่ ส่วนตัวผู้สามารถเลี้ยงได้ 7-8 เดือน น้ำหนักที่ได้เฉลี่ย ตัวเมียจะอยู่ที่ 4-5.5 กก. ส่วนตัวผู้อยู่ที่ 6.5-7 กก.
นอกจากมีเครือข่ายแล้ว ส่วนหนึ่งจะต้องเลี้ยงไก่งวงเองด้วย เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรม พัฒนาการ และปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและถ่ายทอดไปยังสมาชิกในกลุ่ม ที่สำคัญเป็นศูนย์การเรียนรู้และศึกษาดูงานของผู้ที่สนใจ ปัจจุบันทางฟาร์มเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์จำนวน 700-800 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้
การเลี้ยง/การจัดการ
เริ่มจากไก่เล็กอายุ 5-7 วัน ถึงจะนำออกจากโรงฟักได้ และเลี้ยงอนุบาลประมาณ 1 เดือน พอเริ่มแข็งแรงก็จะทำวัคซีนป้องกันฝีดาษ จากนั้นก็ปล่อยขึ้นเลี้ยงบนเล้า ลักษณะการเลี้ยงจะเป็นกลุ่มเลยหรือพื้นโรงเรือนยกพื้นสูงขึ้นมาประมาณ 50-100 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรูหรือสัตว์อื่นที่สามารถทำอันตรายได้ เช่น สุนัขหรืองู เป็นต้น ข้อดีของการเลี้ยงแบบยกพื้นสูงสามารถจัดการได้ง่าย เมื่อไก่งวงถ่ายออกมามูลจะตกลงด้านล่าง สามารถเก็บได้ง่ายและป้องกันพื้นคอกเปียกแฉะ ไม่ทำหมักหมมอันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ส่วนการให้อาหารในช่วง 45 วันแรกจะให้อาหาร 28% โปรตีน และ 45 วันต่อมาจะให้อาหารที่ 22% โปรตีน จากนั้นให้อาหาร 18% โปรตีนจนถึงจับขาย
สำหรับการจัดการด้านพ่อแม่พันธุ์จะนำเข้ามาเลี้ยงในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีและจะสิ้นสุดไม่เกินเดือนมิถุนายน เพราะว่าช่วงที่พักโรงเรือนจะตรงกับช่วงฤดูฝน เนื่องจากการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ มีเพียงกันรั้วบริเวณโดยรอบ และอีกหนึ่งเหตุผลคือเพื่อรักษาตลาดไก่ง่วงด้วย ส่วนการใช้พื้นที่ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์อยู่ที่ 4-5 ตารางเมตร/ตัว ไก่งวงขุนจะอยู่ที่ 4 ตัว/1 ตารางเมตร
“การทำงานกับเกษตรกรที่ไม่สามารถเห็นการทำงานได้ตลอดเวลาก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง เพราะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ ดังนั้นจึงมีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพซากว่าจะต้องเลี้ยงให้มีคุณภาพซากดีที่สุดเพื่อที่ตลาดจะได้ยั่งยืน”
การตอบรับจากตลาดในช่วงแรกๆ คือคุณภาพซากยังไม่ดีเท่าที่ควร ปีนี้จึงได้มีการปรับการเลี้ยงบ้างเพื่อให้ได้ไก่งวงที่มีคุณภาพซากดีขึ้น และเปลี่ยนถุงบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นถุงฟิล์มหด เมื่อมีของแข็งหรือเข็มจิ้มเข้าไปถุงจะไม่คล้ายตัว ทำให้การเลือกซื้อของผู้บริโภคก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วย
แผนอนาคตในปีนี้มีโอกาศคุยกับทางโมเดิร์นเทรดเกี่ยวกับการเลี้ยงนกกระจอกเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองเลี้ยงและเป็นฟาร์มต้นแบบ
“อนาคตห้ามไม่ได้ในการมีคู่แข่งแต่สิ่งที่เราทำได้คือเรามีการพัฒนาระบบให้ดีที่สุดเทียบเท่าต่างประเทศ และหาข้อดี จุดเด่นของเราคือการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แบบอิสระ หลายๆ หน่วยงานที่เห็นการเลี้ยงแบบนี้หรือที่เรียกว่า Animal Welfare ก็มีการช่วยเหลือและส่งเสริมในการเลี้ยง”
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจอื่นหรืออยากเลี้ยงไก่งวงเป็นอาชีพเสริม อย่าคิดแค่ว่าเอาเงินส่วนหนึ่งซัก 2-3 แสนมาลงทุนแล้วให้พ่อแม่อยู่บ้านเลี้ยง ซึ่งทำในลักษณะนี้ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยคุณต้องมีองค์ความรู้ที่ชัดเจน สามารถถ่ายทอดได้ สิ่งสำคัญต้องพร้อมที่จะพัฒนาไปพร้อมกับกลุ่ม เช่น มาตรฐานฟาร์มที่ต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกัน สามารถช่วยเหลือชุมชน เพื่อกระจายรายได้ไปยังผู้อื่นในชุมชน เพราะถ้าไม่มีกลุ่มก็ไม่มีการพัฒนา ถ้าทำได้จะพบว่าการเลี้ยงไก่งวงไม่ได้เป็นแค่อาชีพเสริม แต่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้มากอีกอาชีพหนึ่ง
ส่วนผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้เลยว่าไก่งวงที่บริโภคอยู่ทุกวันนี้ เป็นไก่งวงที่เกิดจากการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย เป็นไก่งวงที่มีการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระและมีมาตรฐานตามกรมปศุสัตว์ ที่สำคัญสะอาด ปลอดภัย
#ข้อคิดคนเกษตร#
“คิดอย่างผู้นำ ทำอย่างผู้รู้ และอยู่อย่างผู้ให้”
ขอขอบคุณ : คุณศรีวรพงษ์ ฤาชา (เฟริส์ท) เลขที่ 59 หมู่ 7 บ้านหนองหว้า ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี 18240
Tel.: 089-001-8765 / 085-100-8765
Email : srivorapong.lu@luechafarm.com
Website : http://www.luechafarm.com
คลิปวิดีโอ : สัมภาษณ์คุณศรีวรพงษ์ ฤาชา (เฟริส์ท)