สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant)

ลูกผสมวากิว ทางเลือกที่รอดของ SD Farm – ปศุศาสตร์ นิวส์

ถนนหมายเลข 24 สายโชคชัย – เดชอุดม ระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์ บ้านตาจัน เลขที่ 220 หมู่ 8 ตำบลตานี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่ตั้งฟาร์มของคุณศักดิ์ดา สุบรรนารถ เจ้าของ “SD Farm” ฟาร์มโคลูกผสมวากิว ผู้ที่เรียนจบด้านประมงจากพระจอมเกล้า ลาดกระบัง แต่เลือกทำอาชีพด้านปศุสัตว์ ดูขัดแย้งกันอย่างไรไม่รู้ แต่ก็เชื่อว่าเขาคงมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

คุณศักดิ์ดา สุบรรนารถ เจ้าของ “SD Farm”

พอฟังเรื่องราวที่คุณศักดิ์ดาเล่าให้ฟังจึงเข้าใจในสิ่งที่เขาตัดสินใจ เนื่องจากที่บ้านมีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำประมง และมีอาชีพเลี้ยงโคมาก่อนอยู่แล้ว แต่เลี้ยงแบบไม่ได้มีแนวทางการพัฒนาหรือปรับปรุงพันธุ์อะไร เลี้ยงแบบทั่วไป ถึงเวลาขายก็ขาย ถูกพ่อค้ากดราคาบ้าง (วลีเด็ดที่ทุกคนเคยได้ยินจนชิน) นั่นคือวิถีชีวิตชนบทที่เลี้ยงกันแบบเดิมๆ (แบบบ้านๆ เลย คุณศักดิ์ดาบอกพร้อมกับหัวเราะ) นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาอยากจะพัฒนาอาชีพเลี้ยงโคให้ดีขึ้น จึงศึกษาจากศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ว่าเลี้ยงแบบไหนหรือโคพันธุ์ไหนดีที่ตลาดต้องการ จนลงเอยที่ “โคลูกผสมวากิว”

โคลูกผสมวากิว

สาเหตุที่เลือกเลี้ยงโคลูกผสมวากิวคือศึกษาจากเว็บไซต์และดูฟาร์มที่เลี้ยงจริงว่าเขาทำอย่างไรบ้าง จากนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกและเข้ารับการอบรม หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนจะซื้อโคเข้ามาขุน แต่ไม่รู้ว่าต้นกำเนิดมาจากไหนหรือสายพันธุ์อะไร ซึ่งไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน จึงเริ่มคิดที่จะใช้แม่พันธุ์เข้ามาผสมเอง โดยปรึกษาผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ในวงการ กระทั่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เมื่อมาโฟกัสโคลูกผสมวากิว ส่วนตัวทางฟาร์มเน้นผลิตและขุนเอง และเริ่มเก็บประวัติแม่พันธุ์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมิตรโคบาล สุรินทร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยแบล็ค โคราช อนาคตอาจร่วมมือกับกลุ่มอีสานวากิว เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำตลาดและเสริมศักยภาพการผลิต

พัฒนาแบบฉบับ SD Farm

การผสมพันธุ์หากเป็นแม่พันธุ์ลูกผสมแองกัสจะผสมวากิวเข้าไป หากได้ลูกโคตัวผู้ก็นำไปขุน ถ้าเป็นตัวเมียก็จะใช้เป็นแม่พันธุ์เพื่อให้เลือดสูงขึ้น (เลือดลูกผสมวากิวอยู่ 75% แองกัสอยู่ 12.5% และพันธุ์พื้นเมืองอยู่ 12.5%) หากไม่ต้องการให้โคมีเลือดที่สูงกว่า 75% ตัวเมียจะไขว้กับพันธุ์แองกัส หรือพันธุ์ไทยแบล็คก็ได้ เนื่องจากต้องการขุนเพื่อขายเป็นเนื้อคุณภาพเกรดพรีเมียม

สายพันธุ์วากิวที่นำมาใช้คือ สายพันธุ์ของบริษัทรายใหญ่และสายทาจิมะ ส่วนสายพันธุ์แองกัสใช้ของอเมริกา

“สิ่งสำคัญที่เลือกเลี้ยงโคขุนเพราะอยากหลุดจากวงจรของพ่อค้าคนกลาง พอเราทำโคขุน มีการจับกลุ่มสมาชิก ถือว่าเป็นอะไรที่สุดของการทำโคขุน เหลือเพียงแค่ชำแหละและการทำตลาดที่เรายังไม่สามารถทำได้ แต่เราก็สามารถหาพันธมิตรที่จะขุนส่งเขาได้”

หลายท่านพอจะทราบว่าการเลี้ยงโคลูกผสมวากิวนั้นอาจจะใช้เวลาการขุนค่อนข้างนานและต้องดูแลเอาใจใส่อย่างมาก ซึ่งคุณศักดิ์ดาได้เผยว่าการเลี้ยงมองว่าไม่ยาก ถ้าเข้าใจการเลี้ยงว่าต้องกินอาหารแบบไหน จะเลี้ยงแบบไม่ใส่ใจไม่ได้ ซึ่งโคพวกนี้ถูกถ่ายทอดพันธุกรรมจากแม่ ถ้าหากเลี้ยงแม่ดีเขาจะช่วยส่งพันธุกรรมที่ดีให้กับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ถ้าจัดการดีทั้งระบบ มันจะทำให้ขั้นตอนการขุนง่ายขึ้น

รวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็ง

แนวทางการผลิตโคของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมิตรโคบาล สุรินทร์ คือ ผลิตโคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ใช้ระยะเวลาขุนในช่วง 12 เดือน โดยการขุนจะแบ่งเป็นสองช่วงคือในช่วงแรกให้หญ้าหรือวัตถุดิบที่เขากินแล้วโตร่วมกับอาหารข้นโปรตีน 14% เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด พอ 6 เดือนหลัง จะงดหญ้าสด แต่ให้กินหญ้าหมัก หญ้าแห้งหรือฟางแห้งแทนโดยใช้ผสมกากเบียร์หรือกากน้ำตาลช่วยลดต้นทุนการผลิต

หญ้าสด
หญ้าหมัก

“หญ้าหมัก” จะใช้เวลาหมักเพียง 15 วันเท่านั้นจะไม่หมักนานเหมือนที่อื่น โดยระยะเวลาขุน ถ้าเป็นลูกผสมแองกัสจะใช้เวลาขุน 12 เดือน ถ้าเป็นลูกผสมวากิวจะขุน 18 เดือน ซึ่งที่เลือกเลี้ยงสองสายพันธุ์นี้ เพราะตลาดต้องการสูง เลี้ยงด้วยกันได้ ข้อดีของพันธุ์ลูกผสมแองกัสก็คือเลี้ยงง่าย โตไว อัตราการแลกเนื้อดี น้ำหนักดี ส่วนข้อดีของโคลูกผสมวากิวคือเปอร์เซนต์ไขมันแทรกสูง แต่การเลี้ยงจะช้ากว่าพันธุ์ลูกผสมแองกัส

SD Farm มีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ แบ่งเป็นคอกแม่พันธุ์ คอกขุน โรงเรือนเก็บอาหาร และแปลงหญ้า โดยตั้งเป้าหมายการเลี้ยงไว้แบบไล่รุ่นที่ 15 ตัว เพื่อให้มีโคขายได้ตลอดทั้งปี ส่วนเรื่อง “ตลาด” ไม่มีความกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากมีเครือข่ายที่ชัดเจน

สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าสามารถผลิตเนื้อโคคุณภาพได้นั้นคือวิธีการเลี้ยงที่เอาใจใส่ และพ่อ-แม่พันธุ์ที่ดี เพราะต้องการรักษามาตรฐานของฟาร์ม ตลอดจนสมาชิกในกลุ่มด้วย

“ลงมือทำอย่างจริงจัง โดยศึกษาและนำกลับไปใช้ ฝึกปฏิบัติให้ชำนาญ โดยเอาวิชาการที่เรียนมาแปลงเป็นการลงมือปฏิบัติ ที่สำคัญอยากพิสูจน์ทฤษฏีด้วยว่าสามารถทำได้ผลจริงไหม โดยศึกษาจากผู้รู้ หนังสือและสื่อออนไลน์ต่างๆ แล้วนำมาปรับประยุกต์ให้ดีขึ้น” คุณศักดิ์ดาทิ้งท้ายด้วยแง่คิด

คุณศักดิ์ดาและครอบครัว

สอบถามเพิ่มเติมหรือเยี่ยมชมฟาร์ม : คุณศักดิ์ดา สุบรรนารถ โทร. : 093-067-7192

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com