เมื่อวัวไทยไม่เป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจากปัญหาการพบสารเร่งเนื้อแดง (สารกลุ่มเบตาอะโกนิส) ทำให้ไม่มั่นใจในกระบวนการตรวจสอบ และการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง อีกทั้งยังพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายสารเร่งเนื้อแดงทางออนไลน์ ในรูปแบบขนมวัวขุน สารเร่งโต เป็นต้น
ไทยเราอาจต้องทบทวนการเลี้ยงโคเนื้ออย่างจริงจัง ว่าการเลี้ยงโคลักษณะนี้เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่? แล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนจำเป็นต้องใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นสารต้องห้าม (ผิดกฎหมาย) มีโทษตามกฎหมาย และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย รวมถึงกระทบการส่งออก
จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ยังสร้างความกังวลให้กับกลุ่มพ่อค้าวัว และนายฮ้อยประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดจากการลงพื้นที่พบว่า พ่อค้าวัวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการนำเข้าโคเนื้อจากเมียนมาร์โดยตรง ผ่านช่องทางเรือข้ามแม่น้ำโขง (ท่าเรือคิงส์โรมัน พื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ไปยังประเทศลาว เพื่อนำไปขุนให้ได้น้ำหนักตามตลาดต้องการ จากการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตลาด คาดไปเวียดนาม และจีน
https://vt.tiktok.com/ZSLoANX4Q/
เห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการปรับตัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง อีกทั้งยังได้โควต้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีผู้บริโภคสูง ดังนั้นไทยเราควรปรับตัวหรือต้องรอการส่งออกที่คาดการณ์อะไรได้ยาก (ไม่อยากให้พึ่งการส่งออกมากไป) เพราะโคที่เลี้ยงต้องกินทุกวัน ถือเป็นต้นทุนการผลิต วันใดที่ประเทศเพื่อนบ้านทำได้เอง ทำได้ดี ทั้งจำนวนโคเนื้อ และองค์ความรู้ในการทำฟาร์ม อาจไม่จำเป็นนำเข้าจากไทย นี่ยังไม่รวมปัญหา เนื้อกล่อง เนื้อเถื่อน เนื้ออินเดีย และบราซิล อีก ที่ทุบตลาดไทยอ่วมในขณะนี้