(วันที่ 15 กันยายน 2564) เวลา 11.00 น. นายลักษณ์ วจนานวัช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ร่วมบันทึกรายการ “เกาะติดวุฒิสภา” (โฟนอิน) ประเด็น “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ….” โดยกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. …. ว่า เป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ในส่วนของวุฒิสภาได้มีการมอบหมายคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ ร่วมกันพิจารณาศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายคณะอนุกรรมาธิการด้านการผลิตเป็นผู้พิจารณาศึกษา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น และได้รวบรวมความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษา ทั้งนี้ ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาต่อประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว
สำหรับหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงานของบุคคล ด้านการสัตวบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ต่อการเลี้ยงและดูแลสัตว์เลี้ยง สมควรให้มีการจัดตั้งสภาการสัตวบาลขึ้นเพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล และควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเลี้ยงและดูแลสัตว์เลี้ยงเพื่อการค้า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 66 มาตรา
คณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตและความเห็นที่สำคัญ อาทิ การกำหนดหลักการและเหตุผลในการให้มีกฎหมายนี้ต้องอธิบายถึงประโยชน์ของสภาการสัตวบาลให้ชัดเจนครอบคลุมถึงประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจการค้าและความยั่งยืนควบคู่กัน และควรกำหนดให้ชัดเจนถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่แท้จริงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ วิชาชีพมีความเข้มแข็ง มีจริยธรรม คุณธรรม และมีการศึกษาต่อเนื่อง ร่าง พ.รบ.ฉบับนี้มีความเกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวพันกับกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและสามารถบังคับใช้เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างแท้จริง
โดยหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ สังคมและประชาชน ทั้งทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์จากประเทศไทย เกิดความมั่นใจในมาตรฐานการควบคุมการผลิต ซึ่งจำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ด้านสังคมจะช่วยลดภาระรัฐในการกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานการผลิตสัตว์เพื่อการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งกฎหมายนี้รัฐมอบหมายให้สภาการสัตวบาลใช้อำนาจทางปกครอง ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพการสัตวบาลแทน การบริหารกิจการของสภาการสัตวบาลจะดำเนินการโดยคณะกรรมการสภาการสัตวบาล กรรมการกึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของสมาชิกสภาการสัตวบาลอันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกันเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลกันเองภายใต้จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
นอกจากนี้ ประชาชนจะได้สัตว์ที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยมาบริโภคเป็นอาหาร อันส่งผลดีต่อสุขอนามัยและสุขภาพ