หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก “นกกระทา” มากนัก อาจมองว่าหาบริโภคยาก แต่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน สนใจทั้งไข่นกกระทาและเนื้อนกกระทามากขึ้น สังเกตได้จากอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ เช่นนกกระทาหัน นกกระทาหมุน นกกระทาทอด ไข่นกกระทาครก และอื่นๆ อีกมาก ทำให้ฟาร์มเลี้ยงนกกระทาขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว
“วีระพงศ์ เจริญฟาร์ม” เป็นหนึ่งในฟาร์มนกกระทาขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอ่างทอง ก่อตั้งฟาร์มมาร่วม 3 ทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากอาชีพพ่อค้าคนกลางรับซื้อนกกระทาเนื้อและไข่นกกระทาจากฟาร์มในจังหวัดไปจำหน่ายตามตลาดทั่วไป และไม่นานก็ได้ผันตัวเป็นเจ้าของฟาร์ม จนกระทั่งปัจจุบัน วีระพงศ์ เจริญฟาร์ม มีธุรกิจนกกระทาขนาดใหญ่ที่มีการขยายต่อยอดธุรกิจไปแบบ “ก้าวกระโดด” ทั้งโรงเชือดและโรงงานแปรรูป
ยุคเปลี่ยนผ่านในอุ้งมือวีระพงศ์รุ่น 2 คุณชิชญาส์ วีระพงศ์ (ตั้ว) กรรมการผู้จัดการบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี แอนด์ โปรดักส์ จำกัด บุตรชายของคุณระวีพงศ์ วีระพงศ์ ผู้เป็นบิดา เปิดทางให้กับลูกชายเข้ามาบริหารต่อจากตนเอง เพื่อดูแลธุรกิจนกกระทาในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
คุณชิชญาส์ ย้อนให้ฟังว่าวีระพงศ์ เจริญฟาร์ม ประกอบธุรกิจเลี้ยงนกกระทาเนื้อและขายนกกระทาสาว (นกไข่) แต่ก่อนที่จะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ลูกค้าสั่งนกกระทาสาวจำนวน 200,000 ตัว แต่ถูกยกเลิก ทำให้ทางฟาร์มประสบปัญหาไม่สามารถระบายนกกระทาเหล่านั้นได้ จึงคิดว่าควรเลี้ยงเองด้วย เพื่อรองรับนกกระทาที่ออกมา
เมื่อทางฟาร์มได้ขยายส่วนของการเลี้ยงนกกระทาไข่ พบว่าเทศกาลกินเจ เข้าพรรษา โรงเรียนปิดเทอม หรือช่วงฤดูฝนมีผลต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ทางฟาร์มประสบปัญหาไข่อืด ไข่ล้นตลาด ซึ่งขณะนั้นคุณชิชญาส์กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง จึงคิดว่าหากมีโรงงานแปรรูปรองรับไข่ล้นหรือไข่ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาต้มสุกที่สามารถเก็บไว้ได้นาน บวกกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นง่าย และสะดวก น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
พอเรียนจบจึงเข้ามารับไม้ต่อ โดยเริ่มจากปรับปรุงโครงสร้างการทำฟาร์มทั้งระบบเป็นรูปแบบการเลี้ยงในโรงเรือนปิด (Evap) เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการเลี้ยงนกกระทาให้เทียบเท่ากับการเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมกับให้ความสำคัญเรื่อง “ตลาด” โดยตั้งโรงงานแปรรูปไข่นกกระทา บริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี แอนด์ โปรดักส์ จำกัด (WRP) ที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP, HACCP , Halal (ฮาลาล)
“นอกจากการบริการที่ดี ฟาร์มและโรงงานที่ได้มาตรฐานแล้ว สิ่งที่ทางฟาร์มให้ความสำคัญคือ การควบคุมคุณภาพสินค้า ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีสินค้าป้อนให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความไว้วางใจและครองใจลูกค้าเรื่อยมา”
เมื่อมีมาตรฐานการหาตลาดจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไข่นกกระทาของบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พีฯ มีจำหน่ายแล้วในตลาดโมเดิร์นเทรดถึง 80% อาทิ แม็คโคร, โลตัส, Big C, Max value, และ Central สามารถกระจายสินค้าไข่นกกระทาต้มสุกไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคใต้ ได้บริโภคไข่นกกระทาที่มาตรฐานเดียวกันในรูปแบบแพ็คเกจจิ้งเหมือนไข่ไก่ ขนาด 30 ฟอง 50 ฟอง และ 100 ฟอง ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ ส่วนอีก 20% เป็นแบรนด์ของวีระพงศ์ เจริญฟาร์ม อนาคตอันใกล้นี้จะมีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และส่งออกในตลาดต่างประเทศ
ปรับตัวสู่โมเดิร์นเทรด
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Transition to the Digital Economy) ต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ความชอบ ความสะดวก ง่าย และรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการซื้อ ซึ่งปัจจุบันคนเดินตลาดน้อยลง แต่กลับพบว่าคนนิยมเดินห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของผู้ผลิตคือการทำฟาร์มและโรงงานที่ได้มาตรฐาน เพราะหากมีมาตรฐานตลาดจะเปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันทางฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงนกกระทาเนื้อ/ไข่ และนกกระทาสาว (พร้อมยืนกรง) ทั้งหมด 20 โรงเรือน จำนวนกว่า 8 แสนตัว และมีลูกเล้าประมาณ 50 ราย จำนวนกว่า 4 แสนตัว
“ก่อนหน้านี้ธุรกิจเลี้ยงนกกระทาของวีระพงศ์เจริญฟาร์มไปต่อค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่เลือกเรียนหรือทำงานด้านนี้ ธุรกิจของครอบครัวก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไปเร็วมาก ต้องตามให้ทัน ต้องเรียนรู้ เราจะหยุดนิ่งแค่นี้ไม่ได้ เพราะถ้าเราหยุดนั่นคือการถอยหลัง”
ทำงานคือความท้าทายใหม่
การเข้ามาทำงานในช่วงแรกประสบปัญหาในเรื่องของทัศนคติและความแตกต่างของช่วงอายุ (คนละ Gen) แม้ว่าจุดหมายจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความคิดและการทำงานค่อนข้างต่างกัน เนื่องจากเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานไวและคิดใหญ่ จึงทำให้พ่อแม่เป็นห่วง สิ่งเดียวที่ทำให้คนรุ่นเก่าเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจคือ ผลงานคือเครื่องพิสูจน์
“โชคดีที่ได้เห็นการทำงานของพ่อแม่ตั้งแต่เริ่มทำฟาร์ม และได้เห็นว่าปัญหาของเราอยู่ตรงไหน แล้วหยิบยกปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไข ด้วยวิธีการของเรา เพื่อที่จะไม่ให้เกิดขึ้นในรุ่นของเรา ซึ่งถ้าเราทำตามที่คนรุ่นเก่าวางไว้ทุกอย่างก็จะเจอปัญหาเดิมๆ เราจึงเดินตามวิธีการของเราโดยใช้ประสบการณ์ในรุ่นบุกเบิกนั่นเอง”
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี บริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พีฯ สามารถจำหน่ายไข่นกกระทาได้มากกว่า 1 ล้านฟอง/วัน ทำให้หมดปัญหาในเรื่องของไข่ล้นตลาดและไข่อืดได้สำเร็จ เมื่อหมดความกังวลด้านตลาด ทำให้มองหาช่องทางต่อยอดจากธุรกิจเลี้ยงนกกระทา นั่นก็คือการทำธุรกิจโรงเชือดหรือโรงชำแหละ เพื่อรองรับนกกระทาเนื้อจากฟาร์มและลูกเล้า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางฟาร์มเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะมีพันธมิตรที่ดี อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการลงทุนและการต่อยอดธุรกิจ
“รูปแบบการทำงานของซีพีเอฟเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ไม่ได้เป็นเพียงผู้ขายอาหารสัตว์อย่างเดียว แต่เป็นทั้งที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดการพัฒนาไปข้างหน้ายิ่งขึ้น”
มาตรฐาน คืออนาคต
หลายคนยังมองภาพธุรกิจนกกระทาเป็นระบบการเลี้ยงแบบเดิมที่เลี้ยงไม่มากนักหรือเลี้ยงกันแบบครัวเรือน 10,000-20,000 ตัว ดังนั้นจะต้องพัฒนาวงการนกกระทาให้เป็นที่รู้จัก และมีมาตรฐานเหมือนการเลี้ยงไก่ไข่และไก่เนื้อ ซึ่งทางวีระพงศ์เจริญฟาร์มยกระดับการเลี้ยงนกกระทา เพื่อให้เป็นตัวอย่างของลูกเล้า เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางเดียวกันที่มีมาตรฐาน เนื่องจากมองว่าเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป การตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย
“เราต้องไม่เอาเปรียบลูกเล้า เราต้องไม่เอาเปรียบคู่ค้า เราต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งสามปัจจัยนี้ก็จะไม่ย้อนกลับมาเอาเปรียบเรา” คุณชิชญาส์ ทิ้งท้ายด้วยปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ
ขอขอบคุณ : คุณชิชญาส์ วีระพงศ์ (ตั้ว) กรรมการผู้จัดการบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี แอนด์ โปรดักส์ จำกัด และวีระพงศ์เจริญฟาร์ม
เลขที่ 71/7 ม.2 ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง
โทร. 081-853-6162 , 089-239-5812