อุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยในปัจจุบันโตอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณการส่งออกทั้งไก่สดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ไก่สูงเป็นอันดับ 3 รองจากยุโรปและญี่ปุ่น คาดว่าปริมาณการส่งออกเนื้อไก่ของไทยตลอดทั้งปีน่าจะเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทยได้เปิดเผยมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้หลายๆ บริษัทรายใหญ่รับออเดอร์การส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดเนื้อไก่ในประเทศไทยคึกคักเป็นอย่างมาก อานิสงส์นี้ทำให้ “บริษัท สตาร์ ฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด” ผู้ผลิตชิ้นส่วนไก่และไก่สดแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดราชบุรีเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ โตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 85,000-90,000 ตัว/วัน
เดิมที สตาร์ ฟู้ดส์ฯ บริษัทชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่ที่ได้รับมาตรฐาน GMP , Halal (ฮาลาล) และกรมปศุสัตว์ มีอัตราการผลิตที่ 100,000 ตัว/วัน ยืดหยัดในการทำตลาดเพียงในประเทศเท่านั้น แต่เมื่อเร็วๆ นี้ คุณศักดิ์ดา มณีพรรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้เปิดเผยการเติบโตของบริษัทฯ ว่าในปี 2563 จะสามารถปิดยอดจำหน่ายที่ 2,500 ล้านบาทได้ ซึ่งในปีนี้เองยอดขายของบริษัททะลุ 2,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สตาร์ ฟู้ดส์ฯ เริ่มพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ จนปัจจุบันเกือบครบวงจรทั้งหมด ซึ่งอนาคตก็ต้องให้เวลาและโอกาสตัดสินว่าจะขยายไลน์การผลิตหรือต่อยอดธุรกิจไปในทิศทางใด
ในระยะเวลาอันใกล้นี้บริษัทฯ มีแผนงานสร้างโรงงานเชือดและโรงงานแปรรูปไก่เนื้อขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เพื่อรองรับมาตรฐานการส่งออกทั้งหมด พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น โดยมองถึงตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย
ส่วนการต่อยอดธุรกิจอื่นอยู่ในช่วงการดำเนินงานคือโรงงานอาหารสัตว์ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สตาร์ ฟู้ดส์ อาหารสัตว์ จำกัด” โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 ตัน/เดือน บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ในเขต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงก่อสร้าง เบื้องต้นได้ซื้อเครื่องจักรเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท และปลายปี 63 โรงงานอาหารสัตว์แห่งนี้ก็จะสามารถผลิตอาหารใช้เอง และผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรรายย่อยทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่
เมื่อมีโรงงานอาหารสัตว์เป็นของตัวเอง สตาร์ ฟู้ดส์ฯ ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังมีการวางแผนทำธุรกิจเกี่ยวกับปศุสัตว์ในด้านอื่นๆ เช่น ธุรกิจสุกรและอาหารสุกร อีกด้วย ซึ่งเป็นแผนงานในอนาคต
“เรื่องโรงงานอาหารสัตว์ เนื่องจากเราเป็นบริษัทเล็ก การแข่งขันกับบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องดูความพร้อม ถ้าไม่พร้อมเราก็ผลิตใช้เอง เพราะตอนนี้ทางบริษัทจะเน้นการผลิตเอง จะไม่เน้นการซื้อเข้าอย่างเดียว เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนวัตถุดิบ
ในปี 2563 เป็นปีที่เราคิดว่าจะไม่ซื้อเข้าเพียงอย่างเดียวเหมือนปีก่อนๆ จะลดการซื้อลงครึ่งหนึ่งและผลิตขึ้นเองครึ่งหนึ่ง หรืออนาคตหากมีการเติบโตขึ้นก็จะลดการซื้อเข้ามาเหลือ 30% และ 70% ผลิตเอง นี่คือสิ่งที่สตาร์ ฟู้ดส์ฯ คิด”
เรื่องนี้คุณศักดิ์ดาให้เหตุผลว่า สินค้าอะไรก็ตามหากเราไปต่อคิวซื้อ เราจะได้ของที่มีราคาแพง แต่ถ้ามีคนมาต่อคิวขายมันจะได้สินค้าที่ราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทฤษฎีความคิดที่ว่า “เราจะตั้งตัวเองเป็นแบบไหน” ซึ่งหากอนาคตข้างหน้าเกษตรกรบางรายหรือส่วนใหญ่เมื่อเลี้ยงไก่แล้วขาดทุน เกษตรกรก็จะลดกำลังการผลิตลง เมื่อถึงเวลานั้นสตาร์ ฟู้ดส์ฯ เองก็จะเติบโตไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการทำฟาร์มที่เป็นของตัวเองหรือแม้กระทั่งการสร้างโรงงานอาหารสัตว์ขึ้นมา ถือว่าเป็นการปิดความเสี่ยง หรือปิดเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคตลงได้
เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตามต้องเริ่มต้นจากตลาดนำการผลิต ซึ่งถ้าวันนี้ตลาดมันดีแล้ว ตัววัตถุดิบไม่มีหรือไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะส่งผลให้ตัวบริษัทไม่นิ่ง ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการขยายงานในส่วนของบริษัท สตาร์ ฟู้ดส์ฯ นั่นเอง
“มองง่ายๆ ว่า วันนี้ที่เราสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขึ้นมา เพราะเรามีตัวกิน ตัวกินไม่พอก็สร้างขึ้นมาให้พอ ในส่วนที่เราสามารถสร้างได้ ไม่แย่งไม่ช่วงชิงอันเป็นเหตุทำให้เกิดการแข่งขัน อะไรที่แข่งขันสูงสตาร์ ฟู้ดส์ฯ จะไม่ทำ สิ่งที่ทำคือสิ่งที่มองแล้วว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้ คุมการผลิตได้ ทำให้มีวัตถุดิบและสินค้าอย่างต่อเนื่อง นี่คือกุญแจสำคัญ”
ขอขอบคุณ : คุณศักดิ์ดา มณีพรรณ์ บริษัท สตาร์ ฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด 33 หมู่ 8 ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
Sponsored