สถานการณ์ “โคเนื้อ” และแนวโน้ม ปี 2566 โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
1. สถานการณ์ ปี 2565
1.1 ของโลก
1.1.1 การผลิต
ปี 2561 – 2565 การผลิตเนื้อโคในโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยปี 2565 มีการผลิตปริมาณ 59.372 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 58.371 ล้านตัน ของปี 2564 ร้อยละ 1.71 ผู้ผลิตสำคัญ คือสหรัฐอเมริกา 12.820 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ บราซิล 10.350 ล้านตัน และจีน 7.125 ล้านตัน โดยการผลิตของประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 0.68 ร้อยละ 6.15 และร้อยละ 2.08 ตามลำดับ และการผลิตรวมของประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของการผลิตทั้งหมดของโลก
1.1.2 การตลาด
(1) ความต้องการบริโภค
ปี 2561 – 2565 ปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อโคในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 ต่อปี โดยการบริโภคเนื้อโคในปี 2565 มีปริมาณ 56.961 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 56.865 ล้านตัน ของปี 2564 ร้อยละ 0.17 ประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา 12.712 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ จีน 10.245 ล้านตัน และบราซิล 7.471 ล้านตัน โดยการบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 2.58 ขณะที่การบริโภคของบราซิล ลดลงร้อยละ 0.28 และการบริโภครวมของประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของการบริโภคเนื้อโคทั้งหมดของโลก
(2) การส่งออก
ปี 2561 – 2565 การส่งออกเนื้อโคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.99 ต่อปี โดยในปี 2565 มีการส่งออกเนื้อโค 12.285 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 11.445 ล้านตัน ของปี 2564 ร้อยละ 7.34 ประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ บราซิล 2.950 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1.620 ล้านตัน และอินเดีย 1.475 ล้านตัน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 27.16 ร้อยละ 3.78 และร้อยละ 5.58 ตามลำดับ และการส่งออกรวมของประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของการส่งออกเนื้อโคทั้งหมดของโลก
(3) การนำเข้า
ปี 2561 – 2565 การนำเข้าเนื้อโคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 ต่อปี โดยในปี 2565 มีการนำเข้าเนื้อโคปริมาณ 9.912 ล้านตัน ลดลงจากปริมาณ 9.933 ล้านตัน ของปี 2564 ร้อยละ 0.21 ประเทศที่นำเข้ามากที่สุด คือ จีน 3.140 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1.537 ล้านตัน และญี่ปุ่น 0.800 ล้านตัน โดยการนำเข้าของจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 3.84 และร้อยละ 1.25 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 0.87 และการนำเข้ารวมของประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55 ของการนำเข้าเนื้อโคทั้งหมดของโลก
1.2 ของไทย
1.2.1 การผลิต
ปี 2561 – 2565 การผลิตโคเนื้อของไทยมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 1.24 ต่อปี โดยลดลงในช่วงปี 2563 – 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ คือ ลัมปี สกิน ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย ขณะที่บางส่วนไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงฆ่าและไม่สามารถจำหน่ายได้ สำหรับปี 2565 ปริมาณการผลิต จำนวน 1.424 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 0.780 ล้านตัว ของปี 2564 ร้อยละ 82.48 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายและภาครัฐมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคแก่เกษตรกร ประกอบกับราคาอยู่ในเกณฑ์ดี และตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง จึงจูงใจให้เกษตรกรมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น
1.2.2 การตลาด
(1) ความต้องการปริโภค
ปี 2561 – 2565 ความต้องการบริโภคเนื้อโคของไทยเพิ่มร้อยละ 0.15 ต่อปี เนื่องจากปี 2563 ผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีโรคระบาดลัมปี สกิน ในช่วงปี 2563 – 2564 ทำให้ปริมาณเนื้อโคในตลาดมีปริมาณน้อย กระทบกับปริมาณความต้องการของตลาดภายในประเทศ ซึ่งปี 2565 คาดว่า ปริมาณความต้องการประมาณ 251 พันตัน เพิ่มขึ้นจาก 154 พันตัน ของปี 2564 ร้อยละ 62.81 จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ความต้องการของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
(2) การส่งออก
ปี 2561 – 2565 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกมีชีวิตของไทยมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 13.11 และร้อยละ 8.99 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว และบางส่วนส่งต่อไปยังจีน โดยในปี 2565 การส่งออกโคมีชีวิต คาดว่ามีปริมาณ 0.159 ล้านตัว มูลค่า 3,300 ล้านบาท ลดลงจากปริมาณ 0.198 ล้านตัว มูลค่า 3,521 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 19.83 และร้อยละ 6.28 ตามลำดับ เนื่องจาก ผลกระทบจากการที่จีนประกาศมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 (Zero Covid) รวมทั้งปัญหาโรคระบาดสัตว์ และมาตรการห้ามเคลื่อนย้าย ตลอดจนปริมาณความต้องการของตลาดภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อการส่งออก
ปี 2561 – 2565 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทย มีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 7.49 และร้อยละ 13.69 ต่อปี ตามลำดับ โดยในปี 2565 การส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ คาดว่ามีปริมาณ 63 ตัน มูลค่า 27 ล้านบาท ปริมาณลดลงจาก 91 ตัน ของปี 2564 ร้อยละ 31.20 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านบาท ของปี 2564 ร้อยละ 38.22
(3) การนำเข้า
ปี 2561 – 2565 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าโคมีชีวิตของไทยมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 24.29 และร้อยละ 8.50 ต่อปี โดยในปี 2565 การนำเข้าโคมีชีวิต คาดว่า มีปริมาณ 0.156 ล้านตัว มูลค่า 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 0.004 ล้านตัว มูลค่า 371 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37 เท่า และ 5 เท่า ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง โดยการนำเข้าโคมีชีวิตของไทยเกือบทั้งหมดเพื่อการส่งออก
ปี 2561 – 2565 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.33 และร้อยละ 26.61 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเนื้อโคจากประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่นำเข้าเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อส่งออก สำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศอินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยในปี 2565 คาดว่า นำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ปริมาณ 25,500 ตัน มูลค่า 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 22,850 ตัน มูลค่า 4,697 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.60 และร้อยละ 49.03 ตามลำดับ
(4) ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้
ปี 2561 – 2565 ราคาโคมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 2.89 ต่อปี โดยในปี 2565 โคมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ คาดว่า มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 99.76 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 96.54 บาทของปี 2564 ร้อยละ 3.33 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ทำให้ความต้องการของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
2) ราคาส่งออก
ปี 2561 – 2565 ราคาส่งออกโคมีชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 4.74 ต่อปี ในขณะที่ราคาส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 6.70 ต่อปี โดยในปี 2565 คาดว่า ราคาส่งออกโคมีชีวิตตัวละ 20,817 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 17,807 บาท ของปี 2564 ร้อยละ 16.90 และราคาส่งออกเนื้อโค และผลิตภัณฑ์กิโลกรัมละ 427.42 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 212.76 บาท ของปี 2564 ประมาณ 1 เท่า
3) ราคานำเข้า
ปี 2561 – 2565 ราคานำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 20.85 และร้อยละ 5.22 ต่อปี ตามลำดับ โดยในปี 2565 คาดว่า ราคานำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์กิโลกรัมละ 274.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 205.55 บาท ของปี 2564 ร้อยละ 33.55 ทั้งนี้ เนื้อโคที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นเนื้อโคคุณภาพ ซึ่งการผลิตเนื้อโคคุณภาพสำหรับตลาดบนในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค
2. แนวโน้ม ปี 2566
2.1 ของโลก
2.1.1 การผลิต
ปี 2566 คาดว่าการผลิตเนื้อโคจะมีปริมาณ 59.244 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 0.22 ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 12.017 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ บราชิล 10.450 ล้านตัน และจีน 7.500 ล้านตัน โดยแนวโน้มการผลิตของจีนและบราซิล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.26 และร้อยละ 0.97 ตามลำดับ สำหรับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป การผลิตมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 6.26 และร้อยละ 1.76 ตามลำดับ
2.1.2 การตลาด
(1) ความต้องการบริโภค
ปี 2566 คาดว่าจะมีการบริโภคเนื้อโคปริมาณ 56.846 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 0.20 สหรัฐอเมริกามีการบริโภคมากที่สุด ปริมาณ 12.185 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ จีน 10.330 ล้านตัน และบราซิล 7.547 ล้านตัน โดยแนวโน้มการบริโภคของจีนและบราซิล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 และร้อยละ 1.02 ตามลำดับ สำหรับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป การบริโภคมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 4.15 และร้อยละ 0.85 ตามลำดับ
(2) การส่งออก
ปี 2566 คาดว่าจะมีการส่งออกเนื้อโคปริมาณ 12.136 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 1.21 โดยบราซิลส่งออกมากที่สุด ปริมาณ 2.975 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ออสเตรเลีย 1.510 ล้านตัน และอินเดีย 1.475 ล้านตัน ออสเตรเลีย มีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 16.15 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ส่งออกปริมาณ 1.39 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 14.01
(3) การนำเข้า
ปี 2566 คาดว่าจะมีการนำเข้าเนื้อโคของโลก 9.685 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.29 โดยจีนนำเข้ามากที่สุด ปริมาณ 2.850 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1.520 ล้านตัน และญี่ปุ่น 0.805 ล้านตัน การนำเข้าของจีนและสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่ลดลง ร้อยละ 9.24 และร้อยละ 1.11 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 และร้อยละ 3.90 ตามลำดับ
2.2 ของไทย
2.2.1 การผลิต
ปี 2566 คาดว่ามีปริมาณการผลิต 1.495 ล้านตัว หรือ 251 พันตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 4.96 เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจภาคบริการ และการท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ตามปกติ รวมถึง ภาครัฐมีโครงการที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อ และการขยายตลาดส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้แนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น
(1) ความต้องการบริโภค
โคเนื้อที่ผลิตได้จะใช้บริโภคในประเทศร้อยละ 97 โดยปี 2566 คาดว่าการบริโภคจะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยวและร้านอาหาร สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และการเพิ่มของจำนวนประชากร ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้น
(2) การส่งออก
ปี 2566 คาดว่าการส่งออกโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากมีความต้องการโคมีชีวิตจากประเทศเวียดนาม และจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
(3) การนำเข้า
ปี 2566 คาดว่าการนำเข้าโคมีชีวิตและเนื้อโคและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจภาคบริการ และร้านอาหารสามารถดำเนินการได้ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มขึ้น
(4) ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2566 คาดว่าราคาจะใกล้เคียงกับปี 2565 เนื่องจากราคาปัจจัย การผลิตปรับเพิ่มขึ้น เกษตรกรต้องบริหารจัดการราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศ
2) ราคาส่งออก และราคานำเข้า ปี 2566 คาดว่าราคาส่งออกโคมีชีวิตจะสูงขึ้น ส่วนราคาส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์และราคานำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2565
2.3 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการผลิตและการค้าของไทย
2.3.1 การผลิต
1) โรคอุบัติใหม่ ลัมปีสกิน (Lumpy skin disease: LSD) รวมทั้งโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดเป็นระยะ ๆ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันและรักษา รวมถึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ
2) การผลิตโคเนื้อในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่
– โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2566) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 397 ราย จัดซื้อแม่โคเนื้อเป้าหมาย 1,975 ตัว ลูกเกิด สะสม 15,335 ตัว เพศผู้ 7,882 ตัว เพศเมีย 7,453 ตัว
– โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2567) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3,511 ราย จัดซื้อแม่โคเป้าหมาย 17,500 ตัว ลูกเกิด สะสม 71,762 ตัว เพศผู้ 34,506 ตัว เพศเมีย 37,256 ตัว
– โครงการโคบาลบูรพา (พ.ศ. 2560 – 2566) ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ส่งมอบโคเนื้อแก่เกษตรกร 6,000 ราย จำนวน 30,000 ตัว ลูกเกิด จำนวน 5,385 ตัว จำหน่ายลูกโคเพศผู้ 666 ตัว มูลค่า 16.445 ล้านบาท ส่งคืนลูกเกิด 2,075 ตัว
3) โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA พ.ศ. 2563 – 2570 (161.78 ล้านบาท) เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตโคเนื้อเพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ผลการดำเนินงาน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565) มีดังนี้
– กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตโคและระบบโลจิสติกส์ครบวงจรห่วงโซ่อุปทาน วิสาหกิจชุมชน 4 กลุ่ม (จังหวัดเชียงราย ตาก นครสวรรค์ และราชบุรี) เช่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพเกษตรกร 930 ราย ให้เงินกู้สำหรับการก่อสร้าง/ปรับปรุงคอกกลางในจังหวัดเชียงราย ราชบุรี เลี้ยงโค ในคอกกลางเลี้ยงก่อนขุน 443 ตัว และเลี้ยงโคขุน 1,096 ตัว
– กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการแปรรูปและขยายโอกาสทางการตลาด บริษัทพรีเมียมบีฟ จำกัด เช่น เลี้ยงโคก่อนขุน 2,520 ตัว (1,260 ตัว/ปี) พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อโคแช่เย็นด้วยเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ สูญญากาศแบบ Skin Vacuum และซื้อโคขุนเพื่อแปรรูปด้วยเทคโนโลยีฯ 5,606 ตัว เป็นต้น
2.3.2 การนำเข้าและส่งออก
ปัจจัยบวก
1) ประเทศผู้ผลิตเนื้อโคของโลกโดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การส่งออกเนื้อโคของประเทศดังกล่าวลดลง เป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อโคได้มากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดประเทศอาเซียน
2) การใช้ประโยชน์การขนส่งทางรถไฟลาว – จีน เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทำให้สามารถขยายการ ส่งออกโคไปจีน ผ่าน สปป.ลาวได้ เพิ่มขึ้น
ปัจจัยลบ
1) การเปิดเขตการค้าเสรี FTA ไทย – ออสเตรเลีย และไทย – นิวซีแลนด์ ตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ราคานำเข้าเนื้อโคคุณภาพต่ำกว่าราคาเนื้อโคคุณภาพในประเทศ ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการตลาดในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารลดลง
2) ผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (Zero Covid) ของจีน ทำให้ มีการปิดด่านชายแดนของ สปป.ลาว และมีกระบวนการนำเข้าที่เข้มงวด โดยต้องถูกกักตรวจสอบโรคที่ สปป. ลาว ระยะเวลา 45 วัน ก่อนที่จะสามารถส่งออกไปที่จีนได้ และเมื่อไปถึงจีนแล้วจะต้องถูกกักตรวจโรคที่ชายแดน สปป.ลาว – จีน อย่างน้อย 30 วัน ก่อนที่จะนำไปเข้ากระบวนการผลิตที่จีน รวมทั้งการกำหนดให้โคนำเข้า ต้องเป็นโคลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม ต้องมีอายุไม่เกิน 4 ปี ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย และปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง
3) นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมโคเนื้อในมณฑลยูนนานเป็นเมืองแห่งโคเนื้อของจีน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตกติดกับเมียนมา ได้แก่ เมืองหลินชาง เมืองเป่าซาน เขตฯ เต๋อหง และเมืองผูเอ่อร์ ภายใต้แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อและแพะเนื้อของจีน ที่ประกาศตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 โดยกำหนดพื้นที่ที่มีโคเนื้อและแพะเนื้อเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ เพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 ของปริมาณความต้องการทั้งหมด โดยกำหนดปริมาณผลิตเนื้อวัวไว้ที่ 6.80 ล้านตัน และเนื้อแพะ 5.00 ล้านตัน ในปี 2568
4) มาตรการส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือเพื่อส่งออกไปจีน ของ สปป. ลาวที่ใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางรถไฟลาว – จีน โดยในปี 2566 มีโควตาการส่งออกโคและกระบือจำนวน 500,000 ตัวต่อปี (เป็นโควตาเฉพาะ โดยอ้างอิงตามจำนวนสัตว์ที่มีและสามารถรวบรวมในเขตกักกันสัตว์) โดยรัฐบาลจีนออกใบอนุญาตนำเข้าให้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมืองหล้าเฉิงค้าง พัฒนาอาหารกสิกรรม จำกัด , บริษัท ลาวโกทงพัฒนากสิกรรม และบริษัท สิบสองปันนาเยหงการค้า
One Reply to “สถานการณ์และแนวโน้ม “โคเนื้อ” ปี 2566 ไทยและต่างประเทศ”
Comments are closed.