สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หรือที่เรารู้จักกันคือ “ประเทศลาว” ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย ระยะทางรวม 1,810 กิโลเมตร มีจุดผ่านด่านถาวรไทย-ลาว (ด่านสากล) และด่านท้องถิ่นรวม 16 จุด มีการสัญจรไป-มา ทั้งบุคคลทั่วไป นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะ ซึ่งจุดผ่านแดนถาวรจะมีการตรวจคนเข้าเมือง และพิธีการศุลกากรตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้เมื่อมีการประกาศการระบาดของ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศลาว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งไทย-ลาว เข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะในไทยมีการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ทุกชนิด บริเวณศูนย์ฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ดังนั้นมาอัพเดทสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของประเทศลาวกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง
1. ประกาศอย่างเป็นทางการในการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ทั้งหมด 7 เคส ที่เมืองตุ้มลาน แขวงสาละวัน ซึ่งมีพื้นที่ติดกับจังหวัดอุบลราชธานีของไทย
2. วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อีกหนึ่งเคส ที่นาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดหนองคายของไทย
3. วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 มีการรายงานเพิ่มอีก 2 เคส ที่เมืองท่าปางทอง แขวงสะวันนะเขต ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดที่มีพื้นที่ติดกับจังหวัดมุกดาหารของไทย
จากการรายงานโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของประเทศลาว ปัจจุบันพบการระบาดของโรคดังกล่าวแล้วทั้งหมด 10 เคส รวม 3 จังหวัด จากทั้งหมด 17 จังหวัด (18%) มีสุกรตายและทำลายไปแล้ว 3,707 ตัว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทางการลาวได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการระบาดและติดตามเฝ้าระวังของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ขอบคุณ : ภารกิจพิชิต ASF – African Swine Fever