สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ วันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2567
ดูสรุปภาวะสินค้าเกษตรย้อนหลัง<<
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ราคาปรับขึ้นจากหาบละ 663 บาท เป็นหาบละ 672 บาท เนื่องจากผลผลิตเหลือน้อย และภาวะแล้งในช่วงที่ผ่านมา
ด้านตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าชิคาโก วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 สัญญาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2567 ลดลง 7.25 เซนต์ หรือ -1.57% ปิดที่ 4.5525 ดอลลาร์/บุชเชล สัญญาข้าวโพดปรับตัวลดลงเพราะถูกกดดันจากความคืบหน้าในการเพาะปลูก ขณะเดียวกันสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว
กากถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 21.80 บาท ประเทศอาร์เจนตินาเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองได้เกือบ 80% แล้ว ส่วนสหรัฐฯ เพาะปลูกถั่วเหลืองฤดูกาลใหม่แล้วเกิน 50% โดยยังคงเร็วกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี
ด้านตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าชิคาโก วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 สัญญาถั่วเหลืองปรับตัวลงต่อเนื่องเพราะถูกกดดันจากแรงขายทางเทคนิค และยังได้รับแรงกดดันจากการปลูกถั่วเหลืองที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
สถานการณ์การจับปลาที่ประเทศเปรู ปริมาณปลาที่จับได้อยู่ที่ 70% ของโควตาแล้ว ขณะที่ราคาซื้อปลาป่นหน้าท่าเรือที่จีนเริ่มทรงตัว ส่วนปริมาณซื้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และสต็อกเริ่มปรับตัวลดลง
ด้านสถานการณ์ราคาปลาป่นในประเทศทรงตัว โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 50.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 44.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 41.70 บาท
สำหรับปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 41.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 39.70 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาทรงตัว
ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ยืนราคาที่ตันละ 664 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาทรงตัวที่ตันละ 480 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 2,250 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,590 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคายืนอ่อน
สภาวะฝนตกทั่วไทยกระทบการออกมาจับจ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ผลผลิตโดยเฉลี่ยออกสู่ตลาดมีน้อยลง ทำให้ตลาดโดยรวมยังคงทรงตัว ด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยับตัวสูงขึ้นมากในสัปดาห์นี้
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันพระที่ 30 พฤษภาคม 2567
ภาคตะวันตก –ยืนราคา–
ภาคตะวันออก 68 – 74 บาทต่อกิโลกรัม
ภาคอีสาน 74 – 76 บาทต่อกิโลกรัม
ภาคเหนือ 73 – 76 บาทต่อกิโลกรัม
ภาคใต้ 74 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 1,900 บาท (บวก/ลบ 74)
ดูราคาหมูหน้าฟาร์ม ย้อนหลัง-ล่าสุด ที่นี่!!
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ แจ้งราคาแนะนำไก่เนื้อ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 43 บาท ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 16.50 บาท และลูกไก่ไข่ ตัวละ 28.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาเพิ่มขึ้น
เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย ปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร จากฟองละ 3.80 บาท เป็นฟองละ 4.00 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2567
นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ระยะนี้ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงเนื่องจากไก่ออกไข่น้อย ปีนี้พลิกผันจากอากาศร้อนจัดเป็นฝนตกชุก ทำให้ไก่เครียดและป่วย เกษตรกรรายย่อยบางรายที่ทำโรงเรือนแบบระบบเปิด ไก่ปรับตัวไม่ทันในช่วงเปลี่ยนฤดูทำให้เป็นหวัด ปริมาณไข่ไก่ในฟาร์มลดลงกว่าครึ่ง (ร้อยละ 50) ส่วนฟาร์มที่เป็นโรงเรือนปิดแบบอีแวปจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยภาพรวมปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณร้อยละ 3 – 5
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความต้องการบริโภคไข่ไก่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ขณะที่ผู้เลี้ยงประสบภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารสำคัญของไก่ราคาสูงขึ้น ซึ่งราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 4 บาทนี้ เท่ากับช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปี 2566
รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ย้ำว่า ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงภาระต้นทุนของผู้เลี้ยง อีกทั้งไม่ต้องตกใจเนื่องจากราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไข่ไก่มีราคาปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ต้นทุน ปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภค ซึ่งการปรับราคาขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ขณะเดียวกันไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุมที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้เลี้ยงและผู้บริโภค
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว