ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News)

เส้นทาง “พรบ.วิชาชีพการสัตวบาล” หลังผ่านกฤษฎีกา

ชาวสัตวบาล/สัตวศาสตร์ทั้งหลาย ท่านคงทราบดีว่าตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี กรรมการสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ และพี่น้องชาวสัตวบาล ได้ร่วมมือร่วมใจกันผลักดันเพื่อให้พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาลสำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ใกล้ความจริงไปทุกขณะแล้ว

จึงขอสรุปความก้าวหน้าพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล ดังนี้

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำเสนอแนวความคิดเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสัตวบาล (ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวิชาชีพการสัตวบาล โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา) ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหารที่มาจากสัตว์ ความยั่งยืนในกิจการปศุสัตว์ และความมั่นคงในวิชาชีพสัตวบาล จากความร่วมมือร่วมใจของชาวสัตวบาลอย่างต่อนื่อง และการทำงานอย่างหนักของกรรมการสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ เรื่องนี้ได้ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้ว

วันที่ 8 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวบาล พ.ศ…..และให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

วันที่ 9 กันยายน 2562 คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ได้เรียกประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกำหนดประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แบ่งการประชุมเป็น 3 วาระ และได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องดังนี้ ประชุมวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 9-26 กันยายน 2562 รวม 6 ครั้ง หารือหลังจบวาระ 1 เมื่อวันที่ 3 และ 7 ตุลาคม 2562 รวม 2 ครั้ง ประชุมวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 10-28 ตุลาคม 2562 รวม 3 ครั้ง และหารือนอกรอบ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 1 ครั้ง ประชุมวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 รวม 1 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการจบขั้นตอนการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล

การทำประชาพิจารณ์ กรมปศุสัตว์ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย มีหน้าที่จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยแบ่งการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็น 2 ทางคือ รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.dld.go.th ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ถึง 15 มกราคม 2563 และรับฟังความคิดเห็นโดยการจัดประชุมประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านประภัตร โพธสุธน เป็นประธาน และกรมปศุสัตว์ได้ทำรายงานส่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563

การชี้แจงประเด็นที่มีความเห็นต่าง ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิต-19 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องปิดทำการ จนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ไต้เชิญผู้ที่มีความเห็นต่าง ประกอบด้วย ตัวแทนกรมปศุสัตว์ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ และสัตวแพทย์สภา มาทำการชี้แจงเหตุผลส่วนตน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ได้พิจารณาแล้วมีมติให้คงข้อความในร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล ฉบับที่ใช้ทำประชาพิจารณ์ไว้ตามร่างเดิม ไม่มีการแก้ไข ยกเว้นมาตรา 29 (5) ให้ตัดข้อความ “ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลของต่างประเทศ” ออก เพราะประเทศเหล่านั้นอาจไม่มีการออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาล กระบวนการตรากฎหมายในลำดับต่อไป สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาลไปให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณารับรองและนำเสนอต่อคณะรัฐนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ส่งเรื่องต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎร์

เมื่อร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาลไปถึงสภาผู้แทนฯ วิปรัฐบาลจะพิจารณาและนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร์ เพื่อให้สภาฯ พิจารณารับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแปรญัตติในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่อง และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาจะร่วมกันชี้แจงตามตารางเวลาดังกล่าว คาดว่าร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล คงจะถูกส่งไปถึงสภาผู้แทนราษฎในสมัยการประชุมนี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะอยู่ที่ลำดับเท่าไร และจะได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์สมัยประชุมนี้หรือไม่

เมื่อร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระแล้ว จะถูกส่งต่อไปให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรอง เมื่อผ่านวุฒิสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com