ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในธุรกิจเกษตรที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องไปทั่วโลก หากจะกล่าวถึงอาชีพด้านปศุสัตว์ สัตวบาล จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ผลักดันและพัฒนาด้านปศุสัตว์โดยเฉพาะ ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของเอเชีย โดยมีการพัฒนาระบบการผลิต การเลี้ยง และการจัดการที่ได้มาตรฐาน เป็นระบบการผลิตที่ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงทำให้สินค้าปศุสัตว์ทั้งจากไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ และโคนม มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออก ยกตัวอย่างเช่น เนื้อไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงแต่ง มีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นทั้งในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรป จึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการขยายการผลิต และพัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาการปศุสัตว์ของไทยดังกล่าว เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ “สัตวบาล” ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสัตว์ในทุกกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่จะมาใช้เป็นอาหารสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง โรงเรือน การจัดการด้านสายพันธุ์และการขยายพันธุ์สัตว์ ตลอดจนการจัดการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น
แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาผลิตผลจากภาคการปศุสัตว์รวมถึงภาคการเกษตรอื่นๆของไทย สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลและมีการพัฒนาเรื่อยมา ทว่าปัญหาภาคการเกษตรก็ยังคงตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านกำลังคนคุณภาพที่ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยที่มองว่าอาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่สร้างปัญหาให้กับประเทศ มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่มีความมั่นคง คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทนี้ก็คือ ในเมื่อภาคการเกษตรเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ แล้ว ทำไม “เกษตรกร” ไม่ใช่อาชีพในฝันของเด็กไทย ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ทั้งในด้านการผลิตพืชและด้านการปศุสัตว์ ให้เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ สามารถเข้าสู่อาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โชคดีของประเทศไทย ที่ในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจภาคการเกษตรกันมากขึ้น
มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง และมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ มีการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักวิชาการสัตวบาลออกมารับใช้วงการปศุสัตว์เรื่อยมา วันนี้ลูกศิษย์คนหนึ่ง (ปนัดดา เตจ๊ะมาเรือน) อดีตนิสิตสัตวศาสตร์ ที่ปัจจุบันทำงานกองบรรณาธิการ ปศุศาสตร์ นิวส์ : Magazine Online อันดับหนึ่งด้านปศุสัตว์ อยากเสนอบทความเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสาขาสัตวศาสตร์ต่อการพัฒนาการปศุสัตว์ของไทย ให้แสดงข้อคิดเห็นว่าคนที่จะมาเรียนด้านสัตวศาสตร์ต้องเตรียมพร้อมอย่างไร พอจบไปแล้วต้องทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาตัวเองให้ทันโลกทันสมัย อนาคตของคนในวงการปศุสัตว์ของคนที่จบสัตวศาสตร์จะเป็นอย่างไร โดยหวังให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั่วไป และคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรียนด้านสัตวศาสตร์ บทความนี้จึงเป็นเพียงข้อคิดเห็นของอาจารย์คนหนึ่ง…จากมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแห่งใหม่ของเมืองไทย ที่ตั้งปณิธานของมหาวิทยาลัยไว้ว่า “ปัญญา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”

สัตวศาสตร์/สัตวบาล เรียนเกี่ยวกับอะไร? เรียนที่ไหนดี?
สัตวศาสตร์ สัตวบาล เทคโนโลยีการผลิตสัตว์ เป็นชื่อที่ใช้เรียกลักษณะการเรียนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปศุสัตว์ โดยมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัย อ้างอิงถึงมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีในสาขาสัตวบาลและสัตวศาสตร์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการร่างโดยมี คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ร่วมกันจัดทำขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลักษณะการเรียนในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ เป็นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร โดยเน้นการผลิตสัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ในลักษณะการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สรีรวิทยา โภชนศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การจัดการฟาร์ม สุขศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ เทคโนโลยีชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ รวมถึงการจัดการธุรกิจ และการตลาด ดังนั้นเนื้อหาสาระสำคัญของวิชาที่เรียนจึงประกอบด้วยวิชาพื้นฐานที่ผู้เรียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสัตว์ได้อย่างลงตัว

ถ้าถามว่าการเลือกเรียนสัตวศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกันหรือไม่ สำหรับผมแล้วเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็อาจไม่แตกต่างกันในด้านของลักษณะภาพรวม เหมือนกับที่เขาบอกว่า แมวไม่ว่าจะสีอะไรก็คือแมวถ้าจับหนูได้ แต่อย่างไรก็ตามแมวแต่ละตัวอาจมีท่วงท่า ลีลา และความเร็วในการจับหนูแตกต่างกันไป ดังนั้นในการเลือกเรียนสาขาสัตวศาสตร์ในมหาวิทยาลัยใดก็เช่นกัน ผู้สนใจก็อาจต้องพิจารณาจากเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของตัวผู้เรียนเอง หลักสูตร อาจารย์ผู้สอน ความพร้อมและทิศทางของมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยในส่วนหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงมองว่า “เรียนที่ไหน ก็เรียนได้ ถ้าใฝ่เรียน”
มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโดยเปิดการเรียนการสอนด้านสัตวศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถ้าเปรียบเป็นคนก็อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต มีการจัดการเรียนการสอนโดยหลักสูตรสัตวศาตร์เป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองคุณวุฒิจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เน้นการเรียนการสอนเพื่อสร้างคนให้ทำงานเป็น เน้นการจัดการฟาร์มเชิงธุรกิจ การตลาดปศุสัตว์ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการจัดการฟาร์ม รวมทั้งระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่จำเป็นในการผลิตสัตว์ยุคใหม่ เป็นต้น
แนวทางการพัฒนานักสัตวบาลกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง
ลองจินตนาการว่าถ้าให้เด็กไทยรุ่นใหม่มาเล่นกระโดดยาง ตีกบ แข่งกันกับผู้ใหญ่ในปัจจุบันซึ่งเคยเป็นแชมป์มาก่อนตอนเป็นเด็ก และในทางกลับกันให้ผู้ใหญ่ในปัจจุบันแข่งทักษะการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ กับเด็กรุ่นใหม่ ผลที่ได้ใครจะเป็นผู้แพ้ ผู้ชนะในแต่ละเกมส์
สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน ในวงการปศุสัตว์เองก็เช่นกัน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านพันธุกรรม โภชนศาสตร์ และการจัดการ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักสัตวบาลต้องให้ความสำคัญ ติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะหากเราหยุดก้าวเราก็จะถูกเดินแซงอย่างแน่นอน โชคดีของประเทศไทยที่ผู้คนที่อยู่ในแวดวงปศุสัตว์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ ขวานขวายหาสิ่งต่าง ๆ มาพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ในปัจจุบัน ไทยเป็นผู้นำการผลิตทั้งในด้านของอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ และนวัตกรรมการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย เป็นต้น
นักสัตวบาลควรมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการ ใช้ในการตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการผลิตสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะที่สำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในอาชีพของตนเองนั่นคือ รู้จักการค้นคว้า การทดลอง วิจัย เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการปศุสัตว์ของตนเอง ดังนั้นแม้สถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตาม ผู้คนที่อยู่ในวงการปศุสัตว์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากว่าคนเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องสังเกตสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ จึงเกิดเป็นพฤติกรรมช่างสังเกตขึ้น และนำมาปรับใช้กับตนเองนั่นเอง ดังนั้นถ้าให้พูดถึงแนวทางในการพัฒนานักสัตวบาลรุ่นใหม่ ก็คงต้องศึกษาจากการพัฒนาตนเองของสัตวบาลรุ่นพี่ในอดีต ที่อาจพอสรุปเป็นแนวทางได้ เช่น ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ใฝ่รู้ เพราะในปัจจุบันความรู้มีอยู่ทุกหนแห่ง แต่ทำอย่างไรที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญกว่า นอกจากนี้แล้วนักสัตวบาลที่ดียังต้องมีจริยธรรมในตนเอง ในฐานะผู้ผลิตอาหารให้กับผู้อื่น การเลี้ยงสัตว์อย่างมีจริยธรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และนอกจากการพัฒนาตนเองข้างต้นแล้ว ยังต้องรู้จักยอมรับ ปัญหา แก้ไขปรับปรุงสิ่งที่บกพร่อง ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
ความรู้ที่เราเรียนมาเมื่อวาน เป็นความรู้เก่าใช้ไม่ค่อยได้แล้วในวันนี้ แต่จะเป็นพื้นฐานให้เราพัฒนาตนเองต่อไป ในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเองก็เช่นกัน จึงต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง ไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ผ่านทั้งกระบวนการเรียนการสอน และการวิจัย ดังนั้นถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตนักสัตวบาลเข้าสู่วงการปศุสัตว์ ผมเชื่อว่าครูผู้สอนทุกคนคงรู้สึกเช่นเดียวกัน คือ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาปศุสัตว์ของไทย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

“สัตวบาล” อาชีพในฝันของเด็กไทยในอนาคต
ถ้าคนยังต้องกินอาหารเพื่อให้มีชีวิตอยู่ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารก็ถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุดแล้ว การปรับตัวให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้นั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์และสัตว์แทบทุกชนิดมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นในอนาคตอาชีพที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกทำจะไม่ใช่อาชีพเกษตรกรอีกต่อไป เพราะในปัจจุบัน เกษตรกรผู้มีความรู้ความสามารถ ผมขอใช้คำว่า “Smart farmer” นับเป็นผู้ที่มีทักษะแบบมืออาชีพ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำการเกษตร เป็นบุคลากรการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีรายได้ สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุข นั้นเริ่มเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน
อาชีพ “สัตวบาล” เองก็เช่นกัน ด้วยโครงสร้างของระบบเกษตรที่แตกต่างกันในปัจจุบัน ที่มีทั้ง กลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการค้า เน้นการผลิตเชิงปริมาณที่มีคุณภาพเพื่อการจำหน่าย ผู้ที่ต้องการเป็น “สัตวบาลมืออาชีพ” ประจำฟาร์มก็สามารถทำงานในรูปแบบของบริษัท เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ที่แตกต่างกันออกไปได้ โดยอาจมีแนวทางในการทำงานที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปตามความชอบของบุคคล เช่น ฟาร์มสัตว์ปีก ฟาร์มสุกร ฟาร์มโคนม โรงฟักไข่ โรงงานอาหารสัตว์ เป็นต้น และในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย “สัตวบาลเจ้าของฟาร์ม” ก็อาจเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งของหนุ่มสาวคนไทยรุ่นใหม่ได้ เช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว เด็กรุ่นใหม่ มักมีความประทับใจในอาชีพเกษตรกร ด้วยเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ สร้างความสุขให้กับครอบครัว และมีความเป็นอิสระในการทำงานและเป็นวิถีชีวิตที่สงบ ซึ่งในเมืองไทยเอง ก็เริ่มมี เด็กรุ่นใหม่ ที่ตั้งใจเรียนเอาความรู้ด้านการเกษตร การทำฟาร์มดังกล่าวไปพัฒนาฟาร์มของตนเองจนประสบความสำเร็จ เป็น “เจ้าของฟาร์ม” เป็น “สัตวบาล” ในฟาร์มของตนเอง สามารถจัดการผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ
สัตวศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่สร้างคนที่มีความรู้มีความสามารถในพัฒนาการปศุสัตว์ และเมื่อบุคลากรในด้านการปศุสัตว์มีความเข้มแข็ง เป็นมืออาชีพ ประเทศไทยก็จะมีความเข้มแข็งและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน หวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าเกษตรกรไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน มีความรักและภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ลูกหลานเข้ามาสืบสานอาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แล้วผมเชื่อว่าวันหนึ่ง “สัตวบาล” จะเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย

ขอขอบคุณ : ผศ.ดร.วัชระ แลน้อย อาจารย์ประจำสาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา