นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article)

สัตวแพทย์-สัตวบาล หน้าที่ที่แตกต่างต่อการพัฒนาปศุสัตว์ไทย – ปศุศาสตร์ นิวส์

“การเลี้ยงสัตว์” จำเป็นต้องมีผู้ดูแลจัดการและการบำรุงรักษาประกอบกันไป เพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง มีความสมบูรณ์แข็งแรงและให้ผลิตผลที่ดี ดังนั้นกิจการปศุสัตว์จึงมีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง 2 วิชาชีพ ได้แก่ วิชาชีพการสัตวแพทย์และวิชาชีพสัตวบาล ซึ่งทั้งสองวิชาชีพนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อปศุสัตว์ไทย และต่างก็มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานเฉพาะส่วนของตน เพราะทั้งสองวิชาชีพนี้มีพื้นฐานทางการศึกษา การอบรม และความรับผิดชอบต่อหน้าที่แตกต่างกัน

วิชาชีพการสัตวแพทย์ คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวแพทย์ มีการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ การวินิจฉัยโรค การป้องกันและรักษาโรคสัตว์ การป้องกันโรคระบาดและโรคสู่คน การใช้ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์ และการอภิบาลสัตว์ป่วย

ดังนั้น สัตวแพทย์ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจรักษาสัตว์ การป้องกันโรคระบาดสัตว์และโรคสู่คน การกำกับดูแลด้านสุขภาพและสุขาภิบาลสัตว์ ความปลอดภัยด้านอาหารที่มีต้นเหตุหรือต้นกำเนิดมาจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบการบังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานราชการ

วิชาชีพสัตวบาล คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวบาล สัตวศาสตร์ หรือชื่ออื่นที่มีหลักสูตรเช่นเดียวกัน มีการศึกษาค้นคว้า วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสัตว์ การจัดการ การปรับปรุงบำรุงพันธุ์สัตว์ เทคโนโลยีการขยายพันธุ์สัตว์ การกำเนิด การประกวดสัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ โภชนศาสตร์สัตว์ การจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์สัตว์ รวมถึงการจัดการด้านต่างๆ ที่มีผลทำให้สัตว์สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้ได้ผลิตผลดีมีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อนและเชื้อโรค มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยของประชาชน สัตวบาลจะไม่ทำการรักษาพยาบาลหรือการอภิบาลสัตว์ป่วย แต่จะใช้วิธีกำจัดสัตว์ป่วยออกจากฝูงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และหลักการสุขาภิบาล

ดังนั้น สัตวบาล จึงมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฎิบัติงานในกระบวนการผลิตสัตว์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ สวัสดิภาพสัตว์ สุขศาสตร์และการสุขาภิบาลสัตว์ การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการด้านการค้าสัตว์ และผลิตผลจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกัน

เห็นได้ว่าวิชาชีพการสัตวแพทย์และวิชาชีพสัตวบาล มีความแตกต่างกันทั้งด้านหลักสูตรการศึกษา และความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองวิชาชีพนี้ต่างก็มีความสำคัญต่อกิจการปศุสัตว์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีลักษณะการทำงานที่เกื้อหนุนต่อกันแต่ไม่อาจทำงานแทนกันได้

ขอขอบคุณ : นายศิขัณฑ์  พงษพิพัฒน์

SPONSORED : BY

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com