ข่าว (News) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Newsletter) สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant)

สิ่งที่เกษตรกรควรรู้ และทำความเข้าใจก่อนฉีดวัคซีนลัมปี สกิน

โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นเฉพาะในโค กระบือ สาเหตุมาจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน แต่ทั้งนี้ก็สามารถติดได้จากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล และการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคที่ติดต่อสู่คนได้

โรคดังกล่าวนี้จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาลดอักเสบ วิตามินบำรุงร่างกาย ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ส่วนโค กระบือ ที่ยังไม่เป็นก็คงต้องฉีดวัคซีนลัมปี สกิน

สำหรับการฉีดวัคซีนลัมปี สกิน นั้น สิ่งหนึ่งที่อยากให้เกษตรกรเข้าใจ คือ “วัคซีนไม่ใช่ยา ใช้รักษาโรคลัมปี สกิน ไม่ได้ ใช้เพื่อป้องกันเท่านั้น”

ดังนั้นสิ่งที่เกษตรกรควรรู้ และทำความเข้าใจก่อนฉีด “วัคซีนลัมปี สกิน” ให้กับโค กระบือ ของท่านต้องทำอย่างไรบ้าง

วัคซีนที่นำเข้ามาใช้ควบคุมโรคในไทย Lumpyvax เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ 1 มิลลิลิตรของวัคซีน (1โด้ส) ประกอบด้วย 104 TCID50 of freeze-dried, live, attenuated virus (SIS Neethling-type)

การเก็บรักษา เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา, ห้ามแช่แข็งโดยเด็ดขาด

ขนาดการใช้ 1 มิลลิลิตร/ตัวสัตว์ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง โดยผสมตัวทำละลายวัคซีนให้เข้ากับ freeze-dried vaccine ก่อนนำไปใช้

ขนาดบรรจุ  มี 2 แบบ คือ 20 มิลลิลิตร (20 โด้ส) และ 100 มิลลิลิตร (100 โด้ส)

แนะนำที่สำคัญควรเปลี่ยนเข็มฉีดยาทุกตัว เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

การฉีดวัคซีนให้ใช้ในสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่อยู่ในฝูงที่มีสัตว์ป่วย ภูมิคุ้มกันจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ 10 วัน หลังจากทำวัคซีน และจะขึ้นสูงสุดในระดับที่ป้องกันโรคได้ที่ 3 สัปดาห์ หลังจากทำวัคซีน

แม่โคที่ตั้งท้อง สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่ควรฉีดในแม่โคท้องแก่ใกล้คลอดประมาณ 1 เดือน

ลูกโคที่เกิดจากแม่โคที่เคยได้รับวัคซีนลัมปี สกิน มาก่อน ให้เริ่มทำวัคซีนตอนอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป (ตามเอกสารแนะนำของวัคซีน ทั้งนี้จะมีการประเมินเพื่อกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม ในการเริ่มฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ของประเทศไทยต่อไป)

ส่วนลูกโคที่เกิดจากแม่โคที่ไม่เคยได้รับวัคซีนลัมปี สกิน มาก่อน สามารถเริ่มทำวัคซีนตอนอายุกี่เดือนก็ได้

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีนลัมปี สกิน

  • มีไข้ (สูงเกิน 39.5 °C หรือ 103 °F )
  • อาจมีตุ่มนูนเล็กๆ ตามผิวหนัง
  • มีอาการบวมหรือเจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด
  • มีน้ำมูก น้ำตาไหล ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • บวมน้ำใต้เหนียงและอก
  • ประมาณน้ำนมลดลงเล็กน้อย (โคนม)

หากพบอาการดังกล่าว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในเขตพื้นที่ได้ทันที

ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดวัคซีน

  • งดการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากฟาร์ม 1 เดือน
  • งดนำสัตว์เข้าโรงฆ่าเพื่อนำเนื้อไปบริโภค 1 เดือน
  • ป้องกันและลดแมลงดูดเลือดภายในฟาร์ม เช่น กางมุ้ง พ่นยา

คำถามที่พบบ่อย

Q : หลังจากที่ฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 แล้ว ต้องฉีดซ้ำอีกไหม?

A : ตามเอกสารของวัคซีนให้ฉีดกระตุ้นปีละ 1 เข็ม

Q : ฟาร์มที่กำลังเกิดโรค สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

A : ไม่ควรฉีด เพราะอาจมีสัตว์ในฟาร์มติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ เมื่อฉีกวัคซีนจะทำให้สัตว์แสดงอาการป่วยภายหลังการฉีด และหากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมกัน อาจส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสได้

ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตสัตว์ ราชบุรี สำนักงานปศุสัตว์เขต 7

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com