เส้นทางการทำธุรกิจส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ทุกธุรกิจมีความยากที่แตกต่างกันออกไป บางสิ่งเป็นไปตามที่คิด บางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่สิ่งที่จะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้คือ การยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง พร้อมกับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน
ดังนั้นธุรกิจที่ทุกคนมองว่าง่ายใครๆ ก็ทำได้ บางธุรกิจก็ปิดตัวลงเพราะสู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ไหว และการวางแผนที่ไม่ดี อย่างธุรกิจ “ค้าไข่” ก็ยังต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าได้

สี่แยกมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง มีร้านขายไข่ที่ใช้ชื่อว่า “ร้านไข่มาบข่า” (หจก. ระยองค้าไข่) เริ่มต้นธุรกิจจากเล็กๆ ค่อยๆ ลองผิดลองถูก จนสามารถปลดหนี้หลักล้านได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยมีคุณนภาพร คำมะลิด หรือ “รัก” ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่สู้ไม่ถอย สร้างเม็ดเงินจากไข่หลายหมื่นฟองจนมีลูกค้าทั้งขาจรและประจำเป็นจำนวนมาก
ก้าวสู่ธุรกิจค้าไข่
จุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าไข่ เริ่มจากคุณรักเคยทำงานเป็นเซลล์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องมีการนำเสนอสินค้าตามร้านค้าแล้วรับออเดอร์ เพื่อให้บริษัทนำสินค้ามาส่ง จึงเกิดความคิดขึ้นว่าอยากขายของบ้างโดยที่สินค้าสามารถวางจำหน่ายได้ทุกร้าน แต่สินค้าที่มองหลายๆ ตัว มีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เลยมองว่า “ไข่” เป็นสินค้าที่ทุกบ้านต้องมีและทุกคนสามารถซื้อได้
จึงหาออเดอร์ตามร้านค้าต่างๆ จากนั้นก็ไปรับไข่มาคัดที่บ้าน ทำรูปแบบงานเซลล์ ซึ่งการทำในลักษณะนี้จะช่วยให้ขายไข่หมดตามจำนวนที่สั่ง ทำเรื่อยมาจนกระทั่งมุมมองความคิดเปลี่ยน อยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเองบ้าง จึงเกิดเป็น “ร้านไข่มาบข่า” (หจก. ระยองค้าไข่) ในปัจจุบัน
“ตอนไปสำรวจตลาดกับบริษัท เจอร้านขายไข่ในจังหวัดเพชรบุรีมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ตลอดระยะทาง 5 กิโลเมตร พอถึงร้านพบว่าเป็นร้านค่อนข้างใหญ่แถมตกแต่งร้านสะดุดตา จึงเกิดความคิดว่าอยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเองบ้าง ดังนั้นจึงกลับมามองหาทำเลแถวบ้าน”

เมื่อมีหน้าร้านแล้วการทำธุรกิจของคุณรักก็เปลี่ยนไป จากเดิมจะคัดไข่อยู่ที่บ้านพอถึงเวลาก็จะส่งขายตามออเดอร์ แต่วันนี้ต้องนั่งรอลูกค้าเข้ามาซื้อ เกิดความกังวล และความกลัวต่างๆ นานา เพราะเป็นความรู้สึกคนละอย่างกับการขายตามจำนวนที่สั่ง เนื่องจากไข่เป็นสินค้าที่มีอายุ หากขายไม่หมดก็จะเกิดการเสียหาย นั่นคือความรู้สึกในช่วงแรกๆ แต่การก้าวข้ามจุดนั้นได้คือ “การเลิกคิด”
เพิ่มยอดเพื่อรอด
ก่อนเปิดหน้าร้านจะมีออเดอร์อยู่ที่ 3,000 แผง/สัปดาห์ ซึ่งก็ถือว่าอยู่ได้ แต่เมื่อเปิดร้านใหม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าจ้างแรงงาน จึงจำเป็นต้องเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ สอดคล้องกับรายจ่ายและมีกำไร โดยที่ลูกค้าก็ต้องอยู่ได้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมียอดจำหน่ายหลายพันแผง/วัน
“ยาก” คือบททดสอบ
ในการทำธุรกิจค้าไข่ทุกคนจะทราบดี เพราะสินค้าที่เรียกว่า “ไข่” มีขายตามตลาดทั่วไปแทบทุกพื้นที่ แถมช่วงเวลาที่ไข่ล้นเกิดการดั๊มป์ราคา ขายตัดหน้ากันหรือแข่งกันถูก นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าไข่ ฉะนั้นการที่จะทำให้แตกต่างจากคนอื่น นั่นคือ “ความยาก” ที่ต้องปรับตัว
การเข้าใจลูกค้าก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะลูกค้าที่เข้ามาแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางช่วงที่ไข่อืดก็ขอลดราคาบ้าง บางช่วงที่ไข่ขาดความต้องการก็เพิ่มขึ้น ลูกค้าแย่งสินค้ากัน ทำให้ไข่ไม่พอขาย แต่สิ่งที่ทำให้อยู่ได้มาจนถึงวันนี้คือ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจะไม่สามารถไปพัฒนาส่วนอื่นได้
“ทางร้านเริ่มทำการจัดคิวลูกค้า หรือแจ้งล่วงหน้าว่าไข่จะเข้ามาวันไหน เวลาเท่าไหร่ เพื่อเป็นระบบมากขึ้น ลูกค้าที่เข้ามารับจะได้ไม่เสียเที่ยว และได้ไข่กลับไป เนื่องจากลูกค้าบางรายมาจากภาคอีสาน ถ้ามาแล้วไม่ได้ก็จะเสียเวลาและเสียความรู้สึก”

ปัจจุบันลูกค้าและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงฟาร์มไก่ไข่ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาซื้อไข่ที่ร้านมากกว่าการตรงไปที่ฟาร์ม นี่คือสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่กลยุทธ์ที่จะทำลูกค้าเกิดความพึงพอใจได้คือ การบริการและการเข้าถึงความต้องการของลูกค้า เนื่องจากร้านไข่มาบข่าเป็นร้านจำหน่ายไข่สด ไข่เป็ด ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า และไข่ข้าว ทั้งปลีกและส่ง

ในส่วนของทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตคุณรักคาดว่าจะเพิ่มการแปรรูปไข่มากขึ้น เพื่อป้อนกลุ่มตลาดเบเกอรี่และร้านทำขนม เนื่องจากในปัจจุบันตลาดกำลังบูมและมีความต้องการค่อนข้างสูง
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพ คุณรักแนะนำว่า “ความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัวอยู่ที่ว่าจะทำแค่ไหนหรือพอใจแค่ไหน เพราะสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ถามว่ายากหรือไม่ก็ยากนะ แต่ควรเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อน คอยดูว่าแต่ละวันขายได้เท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาในการขายนานหรือไม่ ต้องศึกษาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ทั้งข้อดีและข้อเสียนั้นเอง”

“วันนี้ต้องขอบคุณตัวเองที่เลือกอาชีพนี้ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข และคิดว่าอาชีพนี้น่าจะสบายกว่าอาชีพอื่นอีกหลายอาชีพ เพราะที่มีอยู่ทุกวันนี้ล้วนมาจากการขายไข่ทั้งนั้น นอกจากนี้ยังช่วยให้คนอื่นมีอาชีพ และมีงานทำด้วย”
ขอขอบคุณ : คุณนภาพร คำมะลิด (รัก) เจ้าของร้านไข่มาบข่า (หจก. ระยองค้าไข่)
99/67 ถ.ทางหลวงแผ่นดินสาย 36 ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง 21180
โทร. 086-366-6929