ข่าว (News) นานาปศุสัตว์ (Animal News) วิชาการปศุสัตว์ (Livestock Article)

“ส่องไข่” วิธีเช็คคุณภาพไข่ สำหรับฟัก – ปศุศาสตร์ นิวส์

การ ส่องไข่ (egg candling) เป็นการตรวจดูคุณภาพเบื้องต้นของเปลือกไข่และคุณภาพภายในไข่ โดยใช้แสงสองผ่านไข่ เพื่อพิจารณาว่าไข่ดังกล่าวมีเชื้อผสมหรือไม่ หากเป็นไข่ที่มีเชื้อผสมแล้วก็จะดูว่าเชื้อยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว เพราะไข่เชื้อที่ยังมีชีวิตจะสามารถเติบโตเป็นตัวอ่อนและลูกเจี๊ยบ ส่วนไข่ที่ไม่มีเชื้อผสมก็สามารถจำหน่ายหรือบริโภคเป็นอาหารได้

โดยอุปกรณ์ส่องไข่จะใช้ไฟฉายที่มีหลอดไฟ LED ให้ความสว่างสูง และควรทำการส่องในห้องมืด เพื่อที่จะได้เห็นรายละเอียดภายในไข่ชัดเจน

ลักษณะไข่เมื่อส่องดูด้วยแสงไฟ

ไข่เชื้อที่มีชีวิต จะปรากฏเส้นเลือดแดงประสานกันเป็นร่างแห และมีจุดตรงกลางเป็นตัวอ่อน มีการเคลื่อนไหวเล็กน้อย และจะมีการพัฒนาเป็นตัวอ่อนภายในระยะเวลา 21 วัน

ไข่เชื้อตาย เมื่อส่องด้วยแสงไฟจะมีสีซีด เป็นรูปวงแหวน ไม่มีเส้นเลือดที่เป็นร่างแห มีจุดดำติดที่เปลือกไข่

ไข่ไม่มีเชื้อ เมื่อส่องด้วยไฟจะมีสีใส ไม่มีร่างแหของเส้นเลือดแดงอยู่ภายในไข่

การฟักไข่ไก่

ไข่ที่มีเชื้อผสมอยู่ภายในไข่และยังมีชีวิตอยู่ สามารถนำไปเข้าตู้ฟักไข่ โดยจัดเรียงไข่ลงถาดเพื่อนำเข้าสู่ตู้ฟัก เรียงไข่โดยการนำเอาด้านป้านตั้งขึ้น เนื่องจากช่องอากาศของไข่จะอยู่ทางด้านป้าน เชื้อลูกไก่จะลอยขึ้นด้านบนเสมอ หากเรียงไข่โดยเอาด้านแหลมขึ้นลูกไก่จะไม่ได้อากาศที่เพียงพอและมีโอกาสตายสูง

ความชื้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากในการฟักไข่ เพราะไข่จะสูญเสียความชื้นออกจากฟองไข่ตลอดเวลา สังเกตได้จากฟองอากาศที่มีอยู่ในไข่ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายจะมีการขยายใหญ่ขึ้น ความชื้นในการฟังไข่จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วง 18 วันแรก ควรมีความชื่นสัมพัทธ์ 60% และ 3 วันสุดท้ายไข่จะต้องการความชื้นสูงขึ้น คือ 70-75%

นอกจากนี้ควรมีการระบายอากาศในตู้ฟัก เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของของตัวอ่อน เนื่องจากตัวอ่อนต้องอาศัยก๊าซออกซิเจนเพื่อเผาผลาญ และคายคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกมา การเปิดระบายอากาศของตู้ฟักควรทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรให้อุณหภูมิในตู้เปลี่ยนแปลงต่ำเกินไปจากปกติ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้

หากมีไข่เสียหรือเชื้อตายควรคัดทิ้งทันที มิฉะนั้นไข่จะเน่าเหม็นและทำให้ไข่ดีพลอยเสียตามไปด้วย ซึ่งไข่เชื้อตาย เมื่อส่องไฟจะเห็นเป็นลักษณะเป็นน้ำเหลว สีของเส้นเลือดจะซีดผิดปกติ ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือมีจุดดำติดเปลือกไข่

ปัญหาในการฟักไข่

โดยเฉพาะฤดูหนาว มักจะมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกและภายในตู้ฟักแตกตางกันมาก และความชื้นน้อย จึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป และควรเพิ่มขนาดถาดน้ำเพื่อให้ในตู้ฟักมีความชื้นสูง ดังนั้นการฟักไข่ในช่วงหน้าหนาวจึงไม่ค่อยได้ผล

ส่วนฤดูฝน เกิดปัญหาเรื่องความชื้นมากเกินไป ไข่บวมน้ำตาย เนื่องจากความชื้นภายนอกมีมาก ทำให้ความชื้นในตู้ฟักมากตาม อาจจะเปลี่ยนถาดน้ำในตู้ฟักให้เล็กลงหรืออาจลดปริมาณน้ำให้น้อยลง และลูกไก่ที่ฟักออกมาแล้วสามารถอยู่ในตู้ได้อีกประมาณ 2-3 วัน โดยไม่ต้องการน้ำและอาหาร

การฟักไข่เป็ด

ทั้งเป็ดไข่ เป็ดพันธุ์เนื้อ เป็ดเทศ ห่าน มีแนวทางปฏิบัติการฟักที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะความชื้นภายในตู้ฟักไข่ควรมีค่าสูงประมาณ 75% โดยในช่วง 4 วันสุดท้ายของการฟักควรให้ความชื้นสูงกว่า 80% ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการฟักไข่เป็ด คือการควบคุมอุณหภูมิความชื้น การระบายอากาศเสียออกจากตู้ การหมุนเวียนของอากาศออกซิเจน การกลับไข่ และการทำให้ไข่เย็นตลอดการฟักไข่ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จำเป็นต้องควบคุมให้เหมาะสม

การฟักไข่นกกระทา

จะคล้ายกับวิธีการฟักไก่ไข่ โดยสามารถใช้ตู้ฟักไข่ไก่ได้ แต่ไข่นกกระทาที่มีเชื้อสามารถมีอายุได้ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นเชื้อจะเริ่มตายทำให้ไข่เน่า ซึ่งต่างจากไข่ปกติที่สามารถเก็บรักษาได้ประมาณ 30 วัน

สำหรับเทคนิคการเก็บไข่ที่มีเชื้อ เพื่อให้เชื้อภายในไข่แข็งแรงและมีโอกาสฟักเป็นตัวสูงเทียบเท่ากับการเก็บรักษาไข่แบบปกติคือ ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่ต่ำกว่า 10 °C หรือควรเป็นที่อุณหภูมิ 14 ± 3 °C และมีความชื้นสัมพัทธ์ 70 ± 10%

วิธีการดูว่าไข่เน่าหรือเป็นตัว

วิธีแรกทำได้โดยการใช้แสงไฟส่องไข่ ถ้าไข่ไก่มีลักษณะใส ไม่มีเส้นเลือดหรือไม่มีสีทึบๆ แสดงว่าไข่เสียให้คัดออก วิธีนี้สามารถวิเคราะห์เชื้อในไข่ได้ตั้งแต่ไข่มีอายุ 7 วัน ตลอดระยะเวลาของการฟักไข่ สามารถใช้แสงไฟส่องไข่ได้ 3 ครั้ง คือวันที่ 7 , 12 และ 18 อย่าวงไรก็ตามการส่องไข่อาจจะมีโอกาสคัดพลาด เนื่องจากไข่เน่าอาจมีสีทึบทั้งใบได้เหมือนกับไข่มีเชื้อเจริญเติบโตอยู่ภายในเช่นกัน แต่ไข่เน่าจะไม่ค่อยมีช่องอากาศบริเวณด้านบนสุดของไข่ แต่ถ้าเริ่มเน่าระยะแรกช่องอากาศในไข่ก็มีอยู่เหมือนไข่ที่มีเชื้อเจริญเติบโตดี และถ้าเป็นตัวจะเห็นช่องอากาศในไข่ จึงอาจจะต้องใช้วิธีการตรวจสอบวิธีที่สองและสามร่วมพิจารณา

วิธีที่สอง คือการวัดอุณหภูมิของไข่ ไข่ที่มีเชื้อภายในและเจริญเติบโตดีจะมีอุณหภูมิสูง แต่ไข่ที่ไม่มีเชื้อหรือไข่เน่าจะมีอุณหภูมิต่ำแตกต่างจากใบอื่นมาก โดยสามารถวัดอุณหภูมิไข่ได้ตั้งแต่ไข่มีอายุ 17 วัน โดยการใช้ปรอทวัดอุณหภูมิหรือเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิวางแตะไว้ที่เปลือกไข่

และวิธีสุดท้าย คือการนำไข่ลอยน้ำ โดยใส่น้ำในกะละมังให้เต็ม นำไข่ที่ต้องการทดสอบลงไปลอยรอจนกระทั่งน้ำและไข่ในกะละมังเริ่มนิ่ง สังเกตว่าถ้าไข่ใบไหนกระดุกกระดิก แสดงว่าเป็นไข่ที่มีเชื้อเจริญเติบโตดี แต่วิธีนี้ต้องนำไข่ลงไปลอยในน้ำที่นิ่งจริงๆ โดยสามารถใช้เทคนิคนี้ในการตรวจสอบไข่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 วันขึ้นไป

ขอบคุณ : หนังสือ “เปลือกไข่ทองคำ”  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นุชนภา ตั้งบริบูรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com