“ทำงานกลางแจ้ง ที่ดูเหมือนไม่เหมาะกับผู้หญิง เพียงแค่อาศัยความอดทนและจิตใจที่แข็งแกร่งทำจนสามารถเดินมาถึงวันนี้ได้” นี่คือคำพูดหนึ่งของ นันทพร สุขสำราญ มหาบัณฑิตสาวกำแพงเพชร ผันตัวมาทำไร่สานต่ออาชีพของครอบครัว ปลูกอ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และต่อยอดปลูกข้าวโพดหวาน โดยเฉพาะ “ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม” มีทั้งฝักสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ป้อนตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ยึดหลักตลาดนำการผลิต บุกเบิกนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จนกระทั่งได้รับเลือกเป็น Young Smart Farmer จังหวัดกำแพงเพชร และได้รับรางวัลชมเชยจากโครงการ “ฟอร์ดเติมฝัน เกษตรกรหญิงรุ่นใหม่” พร้อมกันนี้ยังรวมกลุ่มเกษตรกรตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนไร่สุขสำราญ” ผลิตสินค้าป้อนตลาด สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
หลังจากเรียนจบการศึกษา มหาบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี 2555 นันทพร สุขสำราญ (คุณทราย) ได้ตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจไร่อ้อยของครอบครัว เพราะเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่มีอายุมากขึ้น เริ่มมีปัญหาสุขภาพ จึงต้องการมาช่วยแบ่งเบาภาระ และเห็นว่าหากเริ่มทำเกษตรตั้งแต่เรียนจบ คุณพ่อยังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำได้ ไม่ต้องศึกษาหาความรู้เองทั้งหมด
โดยในช่วง 1-2 ปีแรก รับผิดชอบการทำบัญชี ควบคู่กับการเรียนรู้งานด้านการเตรียมแปลงปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน ทำให้ทราบว่ารายรับกับรายจ่ายไม่สมดุลกัน มีการลงทุนค่อนข้างมาก แต่รายรับที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่า เป็นผลจากการทำเกษตรตามกัน ในรูปแบบใครว่าอะไรดี ก็ใช้ตาม โดยไม่ติดตามผลลัพธ์ว่าที่ลงทุนไปนั้นได้ผลหรือไม่ คุณทรายจึงนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาปรับใช้ เน้นการทดสอบทั้ง ปุ๋ย พันธุ์ และเก็บข้อมูลเปรียบเทียบ เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าใน 1 รอบการผลิต มีต้นทุนเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม ให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
หลังจากที่ได้ทดลองงานได้ระยะหนึ่ง จึงเห็นว่ากว่าอ้อยจะถึงอายุเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลา 1 ปี กว่าจะขายและมีรายได้เข้ามาหมุนเวียน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป จึงมองหาพืชชนิดอื่นที่ใช้เวลาสั้นกว่า เพื่อให้มีรายได้เร็วขึ้น จึงเลือกข้าวโพด เพราะมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ดูแลง่าย ประกอบกับครอบครัวชอบรับประทานข้าวโพดอยู่แล้ว จึงตัดสินใจแบ่งพื้นที่ไร่อ้อย นำข้าวโพดหวานและข้าวโพดข้าวเหนียว ที่นิยมบริโภคในท้องถิ่นมาทดลองปลูก ต่อมาได้รู้จักกับนักวิชาการผู้พัฒนาพันธุ์ “ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม” ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักไม่มากนัก เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและทดลองรับประทานก็สนใจ และตัดสินใจนำมาปลูก ถือเป็นรายแรกๆ ของจังหวัดกำแพงเพชร
“การเลือกพันธุ์ข้าวโพด เน้นพันธุ์ที่อร่อย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยสอบถามความพึงพอใจเสมอว่า ข้าวโพดอร่อยหรือไม่ ชอบข้าวโพดแบบใดเป็นพิเศษ เพื่อเป็นข้อมูลในการคัดเลือกพันธุ์ สำหรับปลูก และยังเน้นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ทนโรค เพื่อลดต้นทุนการจัดการแปลงปลูก อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ช่วยลดระยะเวลาการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว” คุณทรายกล่าว
ปัจจุบันพื้นที่ 500 ไร่ ต.พานทอง อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังคงปลูกอ้อยโรงงาน อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวโพด แบ่งเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดรับประทานฝัก ซึ่งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มเงินหมุนเวียน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีระยะเวลาการปลูก 120 วัน ส่วนข้าวโพดรับประทานฝัก ปลูกในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อสะดวกต่อการดูแลจัดการ มีระยะเวลาปลูกประมาณ 60 วัน และจะปลูกแบบหมุนเวียน
การปลูกข้าวโพด เริ่มจากการเตรียมพื้นที่ ด้วยการไถผาน 3 ไถพรวนผาน 7 พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตราส่วน 10-15 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าดินยังเป็นก้อนก็เพิ่มขั้นตอนโรตารีตีดินให้ละเอียด วางระบบน้ำหยด หยอดเมล็ด ระยะ 80×30 เซนติเมตร หลังจากหยอดให้น้ำทันที เมื่อข้าวโพดอายุ 20 วัน และ 40 วัน ก็ใส่ปุ๋ย 46-0-0 สัดส่วน 10-15 กิโลกรัม/ไร่ การปลูกข้าวโพดรับประทานฝัก แบ่งเป็น ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม ข้าวโพดหวานสีเหลือง และข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งจัดการแปลงให้ข้าวโพดหวานทั้ง 2 พันธุ์ อยู่ห่างกันอย่างน้อย 20 เมตร พร้อมกับปลูกระยะเวลาเลื่อมกัน เพื่อให้ระยะออกไหมต่างกัน ป้องกันไม่ให้ละอองเกสรของข้าวโพดทั้งสองผสมกัน เพราะทำให้รสชาติไม่ดี ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ข้าวโพดข้าวเหนียวปลูกแบบไล่รุ่น เพื่อให้มีผลผลิตป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง
หากมีปัญหาแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะหนอนกระทู้ ทำการป้องกันด้วยการใช้ เชื้อบีที ที่นำมาขยายเชื้อเอง ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน เพื่อผลผลิตปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้าง และยังปลอดภัยกับผู้ปลูกอีกด้วย ส่วนการใช้ปุ๋ย ใช้หลักถูกที่ ซึ่งพืชรับอาหารทางรากเป็นหลัก ต้องใส่เหมาะสมกับเวลาที่พืชต้องการ และถูกปริมาณ หรือใส่ให้เพียงพอกับความต้องการของพืช โดยปุ๋ยที่ใช้จะใช้แม่ปุ๋ยมาผสมตามสูตรที่ต้องการ เช่น สูตร 15-15-15 จะใช้แม่ปุ๋ย 18-46-0 ผสมกับ 0-0-60 ในอัตราส่วน 1 : 1 ก็จะได้สูตรที่ใกล้เคียงกับ 15-15-15 นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยลดการใช้แรงงาน เริ่มจากการใช้ โดรน ช่วยพ่นสารชีวภัณฑ์และปุ๋ยจุลธาตุต่างๆ ซึ่งประหยัดค่าแรงงานและเวลาได้ เช่นเดียวกับระบบน้ำหยด ที่ช่วยลดการใช้แรงงานและน้ำ รวมถึงการนำเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เมื่อคำนวณต้นทุนการปลูกข้าวโพดอยู่ที่ต้นละประมาณ 2-3 บาท เท่านั้น
ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม จุดเด่นอยู่ที่มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สูงถือเป็น Super Food เพราะเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยชะลอความชรา ป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยการเรียนรู้และความจำ โดยหลังเก็บเกี่ยวก็ทำการคัดแยกฝักใหญ่ขายเป็นฝักสด เรียกว่า Premium size ส่วนฝักขนาดเล็กลงมา ก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มจาก เมล็ดข้าวโพดหวานอบกรอบ ทานเป็นของว่าง ถือเป็น Healthy snack น้ำนมข้าวโพด ที่หวานตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมน้ำตาลหรือสารปรุงแต่งใดๆ แป้งข้าวโพด ใช้เป็นส่วนประกอบของขนมปังและคุกกี้ นอกจากนั้น ยังนำ ไหมข้าวโพด (Corn silk) มาผลิตเป็นชา เพราะมีสารแอนโทไซยานินสูง ดื่มได้ทุกเพศทุกวัย ไม่มีคาเฟอีน และยังมีกลิ่มหอมอ่อนๆ ของข้าวโพด ช่วยลดความเครียด โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ อย.ทั้งหมด
ด้านการตลาด ใช้หลักตลาดนำการผลิต เน้นการปลูกน้อย แต่ได้มาก เพื่อคุมคุณภาพของผลผลิตได้ หลังจากทำตลาดไปก็ได้รับการตอบรับที่ดี จนผลิตไม่ทัน จึงรวมกลุ่มกับเกษตรกรในชุมชน ตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนไร่สุขสำราญ เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้าจำหน่ายสินค้าแปรรูปภายใต้แบรนด์ “มาดาม เกรน (Madam Grain)” โดยผลิตภัณฑ์ของไร่สุขสำราญ จำหน่ายทั้ง offline ผ่านตลาดเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและลูกค้าในพื้นที่ และทาง online ผ่านแพลตฟอร์มทั้ง Lazada , Shopee , เฟซบุ๊ก และเกษตรออนไลน์
ที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social media เพราะหลังจากได้รับคัดเลือกเป็น Young smart farmer แล้วนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร โดยเริ่มสร้างสตอรี่ตั้งแต่เริ่มเตรียมแปลง หยอดเมล็ด รดน้ำ เพื่อให้ลูกค้าติดตาม และรู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่ทำ ถือเป็นการทำตลาดล่วงหน้าที่ช่วยให้รับคำสั่งซื้อก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วยให้วางแผนจำหน่ายผลผลิตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการให้ข้อมูล ตอบข้อซักถามช่วยให้ลูกค้าคลายความสงสัย และมั่นใจในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
สำหรับการเข้าร่วม “โครงการฟอร์ดเติมฝัน เกษตรกรหญิงยุคใหม่” หลังจากได้เห็นการประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้ตัดสินใจสมัคร จนกระทั่งเกษตรจังหวัดที่ดูแลอยู่ได้ชักชวนอีกครั้ง จึงตัดสินใจก่อนปิดรับสมัครไม่กี่วัน เพราะถือเป็นการโอกาสแห่งการเรียนรู้ โดยไม่ได้คาดหวังรางวัล เพียงต้องการแสดงศักยภาพของ Young smart farmer ให้ทุกคนได้เห็น ผลปรากฏว่าผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย และได้รางวัลชมเชย พร้อมกับการอบรมการขายผ่านออนไลน์ การใช้คำ สร้างเนื้อหา เพื่อใช้ประกอบการขาย ทำให้ได้องค์ความรู้มาปรับใช้ทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในอนาคตวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยปรับสัดส่วนระหว่างข้าวโพดฝักสดและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เหมาะสมกับฤดูกาลและตลาด เน้นให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงความต้องการสูง เพื่อให้ได้ราคา ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดหวานที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ช่วยให้ได้ราคาดี และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปช่วยเพิ่มมูลค่าอีกด้วย
“จากจุดเริ่มต้นที่หันมาทำเกษตรกรรม ทั้งที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มา ต้องเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมกับนำวิธีคิดวางแผน วิเคราะห์ข้อมูล มาใช้พัฒนาการทำไร่ แม้ต้องตากแดดตากลมทำงานกลางแจ้งที่ดูเหมือนไม่เหมาะกับผู้หญิง ก็ต้องอาศัยความอดทนและจิตใจที่แข็งแกร่ง จนมาถึงวันนี้ถือว่า มีความภูมิใจในอาชีพทำไร่ มีความสุขจากการได้ลงมือทำและส่งต่อผลผลิตคุณภาพถึงผู้บริโภค” คุณทราย กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ : คุณนันทพร สุขสำราญ (คุณทราย) Tel. : 092 273 5780
ไร่สุขสำราญ และ “มาดาม เกรน (Madam Grain)” 48 หมู่ 6 ต.พานทอง อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร 62150