นานาปศุสัตว์ (Animal News) สัตว์ปีก (Poultry)

“กันย์ชิสา” สัตวบาลสาวขวัญใจชาวสัตว์ปีก – ปศุศาสตร์ นิวส์

การทำอาชีพปศุสัตว์ในปัจจุบันมีการเติบโตและเจริญก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยง การคัดเลือกสายพันธุ์ การบริหารและการจัดการ แม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เป็นระบบ ง่ายต่อกระบวนการผลิตมากขึ้น ลดการใช้แรงงานและอัตราสูญเสีย

แต่สิ่งสำคัญกว่าที่กล่าวมาข้างต้น คือ องค์ความรู้เฉพาะด้านที่จะมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ต้องอาศัยผู้รู้และชำนาญการณ์ ซึ่งบางแห่งอาจใช้ “สัตวแพทย์ ควบคุมและดูแลฟาร์มหรือบางฟาร์มอาจใช้ “สัตวบาล” ฉะนั้นจะพามารู้จักผู้หญิงเก่งคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานด้านสัตว์ปีกเป็นอย่างดี

กันย์ชิสา กรณ์ธรไพศาล หรือ “นิ้ง” เธอเรียนจบจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ปัจจุบันทำฟรีแลนซ์ รับเป็นที่ปรึกษาให้กับฟาร์มไก่ไข่ ไก่เนื้อ และเป็ด เป็นต้น รวมถึงด้านเกษตรอินทรีย์ด้วย

กว่าจะเป็น “สัตวบาลคนเก่ง”

เธอก้าวเข้าสู่วงการปศุสัตว์ หลังจากเรียนจบโดยการสมัครเป็นสัตวบาลประจำฟาร์ม บริษัท คิงส์ เอ้กส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556-2560 เป็นระยะเวลา 4 ปี เธอทำหน้าที่ดูแลสุขภาพไก่ไข่ ตลอดจนผลผลิต รวมถึงการบริหารจัดการฟาร์ม บุคลากร และการประสานงานกับแผนกจัดซื้อเวชภัณฑ์ยา อาหารสัตว์และอื่นๆ

“ช่วงแรกที่เข้าทำงานฟาร์มยอมรับว่ายังไม่เป็นระบบมากนัก การทำงานยังเป็นแบบช่วยกันทั้งหมด ทำให้งานไม่เสร็จตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องทำให้เป็นระบบมากขึ้น โดยต้องมีหัวหน้าประจำแต่ละแผนก เพื่อรับงานและนำไปกระจายกันปฏิบัติ ทำให้การทำงานง่ายขึ้นและเสร็จตามเป้าหมาย หากไม่มีการแบ่งหน้าที่การทำงานจะยากและช้าไปด้วย”

งานเดินเพราะการประชุม

สำหรับการประชุมจะจัดขึ้นทุกสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานใกล้ชิดกับองค์กรมากขึ้น อีกทั้งเป็นการประชุมสรุปงานในแต่ละสัปดาห์ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้างเพื่อที่จะแก้ไขและวางแผนว่าจะทำอะไรในสัปดาห์ถัดไป

“หากไม่มีการประชุม ต่างคนต่างทำงานก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าแผนกไหนมีปัญหาอะไรบ้าง มันก็จะเกิดเป็นความเสียหายซ้ำๆ และสะสมขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมีการประชุมปัญหากันสัปดาห์ละครั้งก็สามารถช่วยกันหาทางและวิธีแก้ไขได้ทันท่วงที”

ด้วยความที่เป็นผู้หญิงการเข้าทำงานในฟาร์ม สิ่งแรก คือ ต้องเรียนรู้กับคนงานก่อนว่าเขามีระบบการทำงานอย่างไร จากนั้นค่อยเริ่มสั่งงานโดยเริ่มทำให้เป็นรูปแบบ โดยการจัดการให้แต่ละคนมีหน้าที่ที่ชัดเจนว่ารับผิดชอบอะไร เช่น แผนกห้องไข่ แผนกช่าง แผนกงานทั่วไป และเรื่องการจัดการระบบไบโอซีเคียวริตี้ หรือระบบสุขาภิบาลฟาร์ม เช่น ก่อนเข้าฟาร์มควรผ่านยาฆ่าเชื้อหรือมีการอาบน้ำสระผมของคนงานก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสัตว์

เมื่อทำงานเป็นสัตวบาลประจำฟาร์มใหม่ๆ ถามว่ารู้สึกกลัวไหม เธอให้คำตอบว่า “รู้สึกกลัวอยู่บ้าง เพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการคุมงานและคุมฟาร์มใหญ่มาก่อน จนได้ลงมือทำจริงๆ ทำให้รู้ว่าถ้าทำตามขั้นตอนและทำให้เป็นระบบ งานก็จะง่ายขึ้น”

ผู้หญิงกับบทบาทนักสัตวบาล

การเป็นนักสัตวบาลสำหรับการจัดการฟาร์ม เธอกล่าวว่า “ไม่ยาก” แต่จะยากตรงที่การจัดการบุคลากร เพราะบางคนทำงานมานานมักคิดว่าตนมีประสบการณ์มากก็ยากที่จะยอมรับคนใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีระบบเพราะระบบจะมีกฎเกณฑ์ให้ทุกคนปฏิบัติตาม เพื่อให้งานที่รับมอบหมายสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าไม่ให้ระบบทำงาน แต่ให้คนทำงานการทำงานมันจะเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากอารมณ์มีผลต่องาน บางคนวันนี้อารมณ์ดีงานที่ได้ก็ออกมาดี แต่บางคนอารมณ์ไม่ดีโดนตำหนิหรือมีเรื่องกวนใจก็จะทำงานแบบไม่ละเอียด ไม่เต็มที่

เพราะฉะนั้น “ระบบ” จึงสำคัญมากเพราะการทำงานโดยใช้ระบบเป็นตัวนำจะทำให้งานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานอย่างอื่นได้อีกมาก โดยไม่ต้องกังวลว่าจุดนี้จะไปได้หรือจะทำไม่ได้ ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย

อีกอย่างการเป็นผู้หญิง การที่จะทำให้พนักงานคนอื่นยอมรับ สิ่งแรกก็ต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าเราทำได้หรือไม่เขาถึงจะยอมรับ หากเข้าไปสั่งงานอย่างเดียวเขาจะไม่เชื่อ ซึ่งการที่จะเปิดใจคนที่มีประสบการณ์มากกว่าจะค่อนข้างยาก เพราะเขาคิดว่าเขารู้ทุกอย่างแล้วจะมาบอกอีกทำไม

ดังนั้นอันดับแรกจะทำตัวกลมกลืนไปกับพนักงานก่อน สังเกตจากสิ่งที่เขาทำ แต่จะไม่ถามเขาโดยตรงทั้งหมด หรืออาจถามเป็นบางอย่าง ซึ่งส่วนมากจะถามเทคนิคการทำงาน เพราะคนที่อยู่มานานมักมีเทคนิคการทำงานและประสบการณ์สูง คอยเรียนรู้ เก็บข้อมูลไปเรื่อย จุดหนึ่งที่จะทำให้เขายอมรับต้องรู้ทันเขาแล้วเขาจะฟังเราอย่างสนิทใจ

“การที่ได้พบปะผู้คนหลากหลายความคิด หลากหลายรูปแบบ มองว่านั่นคือความท้าทายอย่างหนึ่ง ยิ่งได้รับการยอมรับก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก อีกอย่างความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่มองเห็นถึงความละเอียดอ่อน เพราะผู้หญิงเป็นคนใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าผู้ชาย”

งานฟาร์ม VS งานฟรีแลนซ์

จากการทำงานในฟาร์มและฟรีแลนซ์ ทำให้ปัจจุบันมีคนติดตามการทำงานของเธอมากในสื่อโซเชียล อาทิ Facebook , Line และYoutube ซึ่งเธอจะคอยตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาสัตว์ปีกทั้งการเลี้ยงแบบปล่อยและระบบ Evap

“ที่ทำแบบนี้ เพราะอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาแบ่งปันคนในวงการปศุสัตว์ เนื่องจากยังมีเกษตรกรอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ และคนส่วนน้อยที่จะให้คำปรึกษาแบบนี้ เพราะถ้าหากทำงานอยู่ในบริษัทจะต้องรักษาข้อมูลบริษัท ดังนั้นจึงคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้”

เมื่อก่อนเธอทำงานเป็นสัตวบาลประจำฟาร์ม แต่หากเปรียบเทียบกับการทำฟรีแลนซ์ เธอเผยว่ามีอิสระมากกว่า เพราะการที่ทำงานกับบริษัทจะโฟกัสเป้าหมายในฟาร์มหรือบริษัทเป็นหลัก แต่ฟรีแลนซ์สามารถโฟกัสได้หลายจุด มีการบริหารเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แต่ละสัปดาห์มีแพลนจะไปฟาร์มไหนก็จะวางแผนเส้นทางก่อนเดินทาง เพื่อกระชับเวลาและดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือบางฟาร์มที่อยู่ไกลอาจจะใช้สื่อโซเชียลเป็นตัวเชื่อมโยงกัน

การเลี้ยงในระบบ Evap
การเลี้ยงไก่แบบปล่อย Freerange

“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฟาร์ม และรู้สึกดีใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับสัตวบาลรุ่นน้องหรือที่กำลังศึกษาอยู่ ถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสัตวบาลด้วยกัน และรู้สึกภูมิใจที่เรียนจบด้านสัตวบาลมา ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนคณะนี้ แต่พอได้คลุกคลีกลับพบว่าเป็นสาขาที่สามารถนำไปต่อยอดได้เยอะมาก บางคนได้ประสบการณ์จากการทำงานแล้วไปเปิดฟาร์ม เป็นเจ้าของฟาร์มด้วยตัวเอง และสายงานนี้ก็ยังมีความต้องการบุคลากรสูง คิดว่าอาชีพสัตวบาลยังไปได้อีกไกล เพราะพื้นฐานของคนในประเทศ คือ ทำการเกษตร และยังมองว่าอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ ยังสามารถพัฒนาระบบหรือยกระดับการทำฟาร์มได้อีก เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้นไป” นิ้งกล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบคุณ : คุณกันย์ชิสา กรณ์ธรไพศาล / Follow Facebook คลิกเลย

SPONSORED : สนใจปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ https://web.facebook.com/KingChubu/

 คลิกเลย (รูปภาพ)

Pasusart News
No.1 Livestock Online Magazine in Thailand
https://pasusart.com